ใคร “ติดเหล้า” ระวัง! เสี่ยง “่ป่วยทางจิต-ฟันสึก” หลายเท่า

เมื่อวันที่ 7 กันยายน น.ต.นพ.บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.)สวนปรุง จ.เชียงใหม่  ซึ่งนอกจากจะเป็นรพ.เฉพาะทางด้านจิตเวช ดูแลรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคในพื้นที่ภาคเหนือที่มีอาการอยู่ในขั้นรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานทางวิชาการด้านโรคจิตเวชและสุขภาพจิตคล้ายโรงเรียนแพทย์แล้ว  ยังเป็นศูนย์เชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิตในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดสุราและมีอาการป่วยทางจิต เช่น ประสาทหลอน หลงผิด  ซึ่งขณะนี้พบมากถึงร้อยละ 60 ของผู้ที่ติดสุราทั้งหมด  โดยสถานการณ์ทั่วประเทศพบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปติดสุราแล้วประมาณ 2.1 ล้านคน 

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า  ผู้ที่ติดสุรานอกจากจะมีความเสี่ยงป่วยทางจิตสูงกว่าคนที่ไม่ดื่ม 3-6 เท่าแล้ว  ยังพบว่ามีปัญหาโรคในช่องปากสูงกว่าอีกด้วย   ผลการวิจัยของรพ.สวนปรุงในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามารักษาจำนวน 450 คน ในปี 2559  พบว่าร้อยละ 84 มีฟันผุ  เป็นโรคปริทันต์อักเสบสูงถึงร้อยละ 75 ซึ่งเกิดมาจากการละเลยการดูแลความสะอาดช่องปาก และมีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาฟันสึกมากถึงร้อยละ 91 หรือเกือบทั้งปาก  ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นกรดไปทำลายสารเคลือบฟัน และแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขัดขวางการนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดและนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว  ซึ่งหากไม่ดูแลรักษาจะทำให้ฟันผุง่ายขึ้นไปอีก  จึงต้องเร่งจัดระบบการดูแลรักษาอาการทางจิตและฟื้นฟูทางด้านจิตสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยหยุดดื่มสุราได้อย่างถาวร  รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานการดูแลปัญหาอื่นๆ ที่เกิดตามมาด้วย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สถานพยาบาลเครือข่ายในเขตสุขภาพทั่วประเทศ สามารถจัดบริการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในขั้นต้นได้     

น.ต.นพ.บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์

นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการรพ.สวนปรุง กล่าวว่า การดื่มสุราที่ผิดปกติ จะส่งผลต่อสุขภาพช่องปากหลายอย่าง มีรายงานผลการวิจัยพบว่าเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปากด้วย  ถ้าดื่มสุราอย่างหนักร่วมกับสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งในช่องปากถึง 35 เท่า  ในปี 2561นี้รพ.สวนปรุงได้ร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโปรแกรมส่งเสริมป้องกันสุขภาพในช่องปากสำหรับผู้ป่วยโรคติดสุราโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มทันตบุคลากรในรพ.ทุกระดับ กลุ่มพยาบาลในหอผู้ป่วยรพ.จิตเวช  และกลุ่มผู้ดูแลขั้นต้นในรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ใช้ในการทำกิจกรรมกลุ่มกับผู้ป่วย ซึ่งรูปแบบโปรแกรมมีทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม  ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และที่รพ.สวนปรุงด้วยซึ่งมีผู้ป่วยติดสุราและป่วยทางจิตเข้าพักรักษาตัววันละ 385 คน กว่าร้อยละ 60 เป็นผู้ชายและอยู่ในวัยแรงงาน คาดว่าเมื่อได้รูปแบบที่สมบูรณ์แล้ว  ก็จะสามารถขยายผลใช้ในเขตสุขภาพและโรงพยาบาลจิตเวช   ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศได้

ทพญ.ภารณี  ชวาลวุฒิ  หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมรพ.สวนปรุง กล่าวว่า  ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนรวมทั้งผู้ป่วยทางจิตที่มีสาเหตุจากติดสุรานั้น เมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีอาการสงบแล้ว  ก็จะมีความปกติเช่นคนทั่วๆ ไป    ทันตแพทย์หรือบุคลากรด้านทันตสุขภาพ สามารถให้การรักษาโรคช่องปากไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วๆไป  ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวิธีการแบบเฉพาะเจาะจงหรือข้อควรระวังเช่นผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคหัวใจแต่อย่างใด  หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษา       ก็จะทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออกได้ง่าย มีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน ฟันโยก ฟันหลุด เหมือนผู้ป่วย   อื่น ๆ แต่จะเป็นเร็วกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน ดังนั้นการส่งเสริมป้องกันด้านทันตสุขภาพจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคทางช่องปากที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยโรคติดสุราได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image