จิสด้า วิเคราะห์พื้นที่ป่า-ความหนาแน่นเนื้อไม้ เรียนรู้ “คาร์บอนเครดิต”

นายคติวิช กันธา นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาพอากาศก็เช่นกันเต็มไปด้วยมลพิษจากก๊าซต่างๆ มากมาย มนุษย์จึงต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างกะทันหัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2533 มากกว่า 50% ในภาพรวมของโลกจะต้องมีการวางแผนทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเอาไว้ เพื่อช่วยคงรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกว่ามาตรฐานกำหนด

 

Advertisement

“จิสด้า ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการรับผิดชอบต่อสังคม โดยนำ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานการรักษาชั้นบรรยากาศโลก เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังจากที่ไทยเข้าร่วมอนุสัญญาภายใต้การลดภาวะโลกร้อน และได้ commit ว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะลดภาวะเรือนกระจก 7% ซึ่งในปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 300 ล้านตัน พื้นที่ป่าจึงมีประโยชน์ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 70 ล้านตันในภาพรวมของประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”นายคติวิช กล่าว

นายคติวิช กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานระดับกลาง เช่น จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีพื้นที่ป่าที่รับผิดชอบและมีแนวเขตที่ชัดเจน ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนรวมอยู่ด้วย พื้นที่ในส่วนนี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับ TGO หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็เพื่อให้กระบวนการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอน หรือคาร์บอนเครดิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความละเอียดรอบคอบ และถูกต้องมากที่สุด หลังจากขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และจิสด้า ก็จะร่วมกันตรวจวัดปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อดูว่าพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีอยู่ที่ไหนบ้าง จากนั้นจะจำแนกชนิดป่าด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมว่าในพื้นที่นั้นๆ มีป่าชนิดใดบ้าง และในแต่ละชนิดของป่าก็ต้องมีการวิเคราะห์ความหนาแน่นของป่าว่ามีความหนาแน่นมาก หรือปานกลาง หรือน้อย จากนั้นจะทำการสุ่มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในบริเวณที่เราต้องการจะวัดปริมาณการกักเก็บฯ ซึ่งเมื่อได้ตำแหน่งที่แน่นอนแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่จะต้องเข้าไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ป่าที่ให้ปริมาณคาร์บอนเครดิตมากที่สุด คือป่าดิบ รองลงมาจะเป็นป่าสน ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าชายเลน

Advertisement

“ปัจจุบัน จิสด้าได้ดำเนินงานในภาคส่วนการวิเคราะห์พื้นที่ป่าไม้และความหนาแน่นของป่าไม้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพื้นที่นำร่อง จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน เพราะเป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงให้การสนับสนุนทางด้านส่งเสริมการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทางสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีส่วนร่วมในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศ ที่นอกจากจะสร้างมูลค่าจากคาร์บอนเครดิตที่ได้จากผืนป่าแล้ว ยังปลูกฝังให้คนในชุมชนรักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ เกิดความรักและหวงแหนผืนป่า ที่ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนในที่สุด” นายคติวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image