’10 องค์กรพยาบาล’ ถก สธ.ขอเพิ่มวิชาชีพจ่ายยา ข้อเสนอสวนทางเภสัชฯ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัด สธ. ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คนใหม่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ร่วมกับทางสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาล สมาคมผู้บริหารสภาการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สภาพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วม 10 องค์กร เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ภายหลังมีประเด็นข้อห่วงใยขององค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมจนนำไปสู่ไม่แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา เฉพาะมาตรา 22(5) ให้คงตามเดิมเรื่องวิชาชีพจ่ายยา

นพ.โอภาสกล่าวภายหลังการประชุมว่า ภาพรวมทางพยาบาลเห็นด้วยกับหลักการของเนื้อหาร่าง พ.รบ.ยาฉบับใหม่ว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นเห็นต่างอยู่บ้าง ซึ่งพยาบาลได้เสนอ 3 เรื่อง คือ 1.มาตรา 22(5) เรื่องการจ่ายยา โดยขอให้วิชาชีพพยาบาลเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่จ่ายยาได้ด้วย ซึ่งย้ำว่าการจ่ายยาไม่เหมือนกับการขายยา 2.นิยามตามมาตรา 4 การแบ่งประเภทยา ซึ่งพยาบาลเสนอให้มีการแบ่งประเภทยาออกเป็น 4 ประเภท ตามร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่เขียนไว้ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ และ 3.กรณีเกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤตกับประชาชนหรือผู้ป่วย ให้พยาบาลสามารถให้ยาเพื่อช่วยชีวิตฉุกเฉินได้ เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาช็อกจะเสียชีวิตมาที่ รพ.สต. แต่ไม่มีแพทย์และเภสัชกรจ่ายยา จะเป็นหน้าที่ใครในการบรรเทาภาวะวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพยาบาล

 

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า หลังจากนี้จะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อผู้บริหาร สธ.และคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.ยา ส่วนประเด็นที่ยังเห็นต่างจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อให้ได้ทางออกและข้อสรุปโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยขอให้ได้มาพูดคุยกันภายในสัปดาห์นี้ก่อน เพราะหากยังเห็นต่าง มีข้อขัดแย้งกันมากก็จะยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่หากได้ข้อสรุปที่ลงตัวร่วมกัน ก็จะเสนอ ครม.และเป็นไปตามกระบวนการ คือเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งก็จะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจง และกลับมาสู่ ครม.และเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป แต่หากสุดท้ายยังเข้า ครม.ไม่ได้ ก็จะกลับไปใช้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งตรงนี้จะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากประโยชน์ของกฎหมายใหม่ ทั้งเรื่องการส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมโฆษณาขายยาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อถามถึงผลโพลว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นวิชาชีพสุขภาพอื่นจ่ายยา นพ.โอภาสกล่าวว่า ในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีวิชาชีพอยู่ครบ เพื่อประโยชน์ของประชาชนก็อาจต้องมีการอนุญาตให้บางวิชาชีพจ่ายยาบางอย่างได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักเป็นพยาบาลที่ทำหน้าที่แทนวิชาชีพต่างๆ แต่หลักสากลที่ว่าให้แยกวิชาชีพออกจากกันก็เห็นด้วย เพียงแต่ต้องหาข้อสรุปที่ลงตัวกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งทางพยาบาลต้องการให้เขียนกฎหมายที่สอดคล้องกับการทำงานและเกิดการคุ้มครอง ซึ่งหากพยาบาลทำตามกฎกระทรวงสาธารณสุข สธ.ก็ให้ความคุ้มครองเต็มที่ ซึ่งเรื่องการคุ้มครองก็เป็นสิ่งที่ สธ.ต้องคำนึงถึง แต่ขั้นตอนการเขียนกฎหมายก็มีการตีความต่างกัน ทางพยาบาลจึงอยากให้มีการเขียนไว้ในกฎหมายด้วย

Advertisement

ด้าน รศ.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า พยาบาลมา 10 องค์กรด้วยกัน ก็ได้ทำความเข้าใจกับทาง สธ.ถึงภารกิจในการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวิชาชีพ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ภาพรวมเกิดประโยชน์ต่อประเทศหลายด้าน ซึ่งปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก การปรับปรุงกฎหมายจึงควรครอบคลุมถึงการประกอบวิชาชีพการพยาบาลในการรักษาโรคเบื้องต้นด้วย จึงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว โดยเฉพาะมาตรา 4 ที่แบ่งยาแผนปัจจุบัน 4 ประเภท จะครอบคลุมยาแผนปัจจุบันที่พยาบาลจะจ่ายได้ตามที่กำหนดไว้ในการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งเรามีข้อกำหนดการรักษาโรคเบื้องต้นสำหรับพยาบาลและคู่มือการใช้ยารักษาโรคเบื้องต้น โดยได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภา ทันตแพทยสภา และสภาเภสัชกรรม ส่วนมาตรา 22(5) ก็สนับสนุนให้วิชาชีพพยาบาลเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งนอกจาก 3 วิชาชีพที่จ่ายยาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้านประเด็นมาตรา 22(5) ในเรื่องการให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา แต่สุดท้ายมีข้อสรุปให้ใช้แบบเดิม คือคงไว้ 3 วิชาชีพ คือแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ส่วนเภสัชกรให้คงไว้ตามกฎระเบียบเดิมให้ประจำร้านขายยา และคัดค้านประเด็นเรื่องการแบ่งยา 4 ประเภท โดยขอให้เหลือเพียง 3 ประเภท คือ 1.ยาควบคุมพิเศษ 2.ยาอันตราย 3.ยาสามัญประจำบ้าน และ 4.ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image