สะท้อนปัญหาบริการสาธารณสุข ชุมชนทุรกันดาร ‘ปางมะผ้า’ แม่ฮ่องสอน(คลิป)

หากใครเคยเดินทางมายัง จ.แม่ฮ่องสอน ย่อมทราบว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะสภาพภูมิประเทศอยู่ในหุบเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นเส้นทางที่เรียกกันว่า “ทางพันโค้ง” ต้องลัดเลาะตามเทือกเขาต่างๆ ยิ่งในหมู่บ้านห่างไกล ตามเทือกเขาตามดอยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง…

นอกจากปัญหาการเดินทางแล้ว ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะทั้งอุปสรรคในการเดินทาง การส่งต่อผู้ป่วย ยังมีเรื่องการเฝ้าระวังควบคุมโรคต่างๆ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติดกับพื้นที่ชายแดน หากควบคุมโรคไม่ดีย่อมเสี่ยงแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2561 ทีมสื่อมวลชนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ปางมะผ้า และ หน่วยแพทย์โรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตรวจรักษาชาวบ้านที่สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) ซึ่งตั้งในชุมชนบ้านน้ำบ่อสะเป่ หมู่ 3 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ระยะทางจากตัวอำเภอถึงบ้านน้ำบ่อสะเป่ประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง

Advertisement
อรรถสิทธิ์ แสงจันทร์

อรรถสิทธิ์ แสงจันทร์ สาธารณสุขอำเภอปางมะผ้า เล่าว่า บ้านน้ำบ่อสะเป่ เป็นชุมชนชาวเขาเผ่าลีซู มีประชากรกว่า 900 คน มีความแตกต่างด้านภาษามาก ต้องมีล่ามช่วยแปล โดยที่นี่เรามีสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ประจำมาดูแล เหมือน รพ.ขนาดเล็กๆ ในการให้บริการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน รวมทั้งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาดูแลทุกเดือน

ตามปกติประชาชนในพื้นที่อยู่บนภูเขาสูง เป็นพื้นที่ทุรกันดารอยู่แล้ว การเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานไม่ครอบคลุม อย่างพื้นที่ตรงนี้ ในสมัยก่อนเราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าถึงจะเดินทางถึง แต่พอการคมนาคมดีขึ้น ชาวบ้านก็ลงไปได้ ใช้เวลาลดลงบ้าง แต่การเดินทางก็ยังลำบาก ผ่านเส้นทางโค้งต่างๆ และหากฝนตกก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ยิ่งถ้าพื้นที่ไกลๆ ยิ่งลำบากกว่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็มีปัญหามาก ทั้งการรับวัคซีน โภชนาการ การตรวจมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ จึงต้องมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงมาช่วย พอหน่วยนี้ออกมา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แทนที่จะต้องลงไปรับบริการข้างล่าง ก็ทำให้พวกเขาได้รับบริการ ณ จุดตรวจในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น อย่างบางคนเป็นความดันโลหิตสูง แต่ไม่รู้มาก่อน เมื่อหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาทำการตรวจก็จะพบโรค และก็จะนำส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อตรวจอย่างละเอียด และนำยามาให้ถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ยกตัวอย่าง นางโนสะเม ไม่มีชื่อสกุล อายุ 41 ปี ชาวบ้านในชุมชน ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เคยรับยาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2552 แต่ผู้ป่วยไม่มาตามนัดทำให้ขาดยา เพราะการเดินทางลำบาก แต่เมื่อปี 2554 มีหน่วยแพทย์เป็นพยาบาลเยี่ยมบ้านทุก 2 เดือน ทำให้ได้รับยาต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถคุมความดันได้ปกติ

รวมทั้งสมัยก่อนในหมู่บ้านนี้จะมีปัญหาสุขภาพที่ป่วยเป็นประจำ คือโรคอุจจาระร่วง แต่เมื่อหน่วยแพทย์ลงมา ก็ให้ความรู้ทั้งการปฏิบัติตน ความรู้ด้านสุขศึกษา เมื่อใช้ระยะเวลาหนึ่งก็ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป อย่างจะรับประทานอาหารก็ล้างมือก่อน เมื่อก่อนแทบทุกคนจะมีอาการท้องเสีย แต่ปัจจุบันไม่เจอปัญหาแล้ว

นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการ รพ.ปางมะผ้า ให้บริการตรวจรักษาชาวลีซู

“ชุมชนนี้เข้าง่ายมากกว่าพื้นที่ดอยอื่นๆ เพราะยังมีหลายพื้นที่เวลาจะเข้าไปต้องใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง โดยเดินเท้า 4 ชั่วโมง อย่างเช่น อ.แม่สะเรียง ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ไปกลับได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่โดยรวมแล้วอยากสื่อสารว่าในการทำงานการเดินทางของ จ.แม่ฮ่องสอน ลำบากจริงๆ ยิ่งการเข้าให้บริการสาธารณสุขยิ่งไม่ง่ายเลย ก็จะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการ โดยเป็นหน่วยแพทย์จากโรงพยาบาลปางมะผ้า มี นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการ รพ.ให้บริการประชาชน เพราะการจะให้พวกเขาลงไปรับยาถึง รพ.เองก็ค่อนข้างลำบาก จะลงไปได้ก็ต้องจ้างรถลงไปครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งก็จะรวมกันไป 10 คน หารคนละ 100 บาท ถ้าต้องทำแบบนี้ทุกเดือนก็ไม่ไหว” สาธารณสุขอำเภอปางมะผ้ากล่าว

เมื่อถามว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยได้สิทธิการรักษาหรือไม่ อรรถสิทธิ์บอกว่า คนไทยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่คนไทย เนื่องจากพวกเขาอพยพมาจากพื้นที่ชายแดนประเทศพม่า แต่พวกเขาอยู่ในประเทศไทยนานมากแล้ว การจะไม่ให้อยู่ก็จะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชากรที่เป็นคนไทยก็มีประมาณ 90-100 คน จาก 900 คน ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มรอพิสูจน์สถานะที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย จะได้รับบัตรสีฟ้า ทางกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรเงินมาให้ประมาณ 2,000 บาทต่อหัวประชากรต่อปี แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ไม่มีบัตรอะไรเลย ซึ่งประชากรทั้ง 3 กลุ่มเมื่อเข้ามาในระบบบริการ เราก็ให้บริการทั้งหมด

ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเงินตามประชากรบัตรทอง โดยในอำเภอปางมะผ้าได้รับงบปีละ 28 ล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้แค่การรักษาอย่างเดียว เราต้องมาจัดสรรเรื่องค่าจ้างของบุคลากรด้วย ค่ายา ค่าออกไปส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งปีที่ผ่านมาซื้อยาไปประมาณ 4 ล้านบาท ก็ค่อนข้างมาก เราเคยสำรวจโดยใช้เงินประมาณ 3 ล้านบาทสำหรับคนไม่มีสิทธิทั้งอำเภอ จะเรียกเก็บจากที่ไหนก็เรียกไม่ได้ เราก็ใช้เงินที่ได้รับการจัดสรรมาใช้เฉลี่ยกันไป

แสดงว่าปัญหางบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญในการจัดบริการ อรรถสิทธิ์ย้ำว่า ทั้งงบประมาณ ทั้งบุคลากร เป็นปัญหาหมด ยิ่ง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ห่างไกลและสภาพภูมิประเทศค่อนข้างลำบาก เพราะเราไม่ได้ดูแลแค่คนไทย แต่ยังต้องดูแลคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย และด้วยเป็นพื้นที่ติดชายแดนก็ยังต้องเฝ้าระวังโรคชายแดนอีก ดังนั้นหาก จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยกขึ้นเป็นพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เฉพาะ ก็จะช่วยเรื่องบุคลากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นโครงสร้างหน้าที่ของหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาดูแล

เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอีกมาก เพราะปัญหาสาธารณสุขไม่ใช่แค่พื้นที่ทุรกันดาร แต่เป็นเรื่องของทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image