กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกวิกฤต ‘อัศวิน’ ห่วงท่วม สั่งทุกหน่วยเฝ้าระวังหวั่นฝนซ้ำ (คลิป)

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 19 กันยายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะผู้บริหาร กทม.พร้อมด้วย นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำเหนือในคลองแสนแสบ ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ (ตอนมีนบุรี) ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และเป็นจุดรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ใต้ ก่อนถึงประตูระบายน้ำฯ เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก จากนั้นลงเรือตรวจการณ์เยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่อยู่อาศัยริมคลองแสนแสบ นอกแนวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ (King’s Dike) ตั้งแต่ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี จนถึงมัสยิดกมาลุลอิสลาม รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร

พล.ต.อ.อัศวินให้สัมภาษณ์ว่า กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน จังหวัดใกล้เคียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำจากภาคเหนือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อาทิ ข้อมูลการผันน้ำ การพร่องน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนทางภาคเหนือ ฯลฯ โดยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำทุกวันจันทร์

Advertisement

“ขณะนี้สถานการณ์น้ำเหนือบริเวณจุดวัดน้ำศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 860 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ปีนี้ปริมาณสูงสุดวัดได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ เนื่องจากสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ถึง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงยังไม่เป็นปัญหาต่อประชาชน เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1.60 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และสามารถรองรับได้มากกว่า 2.80 ม.รทก. ดังนั้น น้ำหนุนจะไม่เข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯแน่นอน” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ บริเวณกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่ครอบคลุมพื้นที่เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และเขตคลองสามวา นั้น เนื่องจากลักษณะกายภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและในพื้นที่มีฝนตกมาก ตลอดเดือนกันยายนถึง 200 มิลลิเมตร (มม.) ขณะที่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริจะได้รับผลกระทบจากการผันน้ำของแม่น้ำป่าสัก และคลองชัยนาท-ป่าสัก อาจส่งผลต่อพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

“ระดับน้ำที่จุดวัดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน มีปริมาณน้ำสูง 0.92 ม.รทก.สูงกว่าระดับวิกฤตที่อยู่เพียง 0.90 ม.รทก. ซึ่งเป็นระดับน้ำเตือนภัย กทม.ได้ร่วมกับกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำ สามารถลดระดับน้ำได้เล็กน้อย โดยเมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 19 กันยายน ระดับน้ำอยู่ที่ 0.87 ม.รทก. หากไม่มีฝนตกมาสมทบในพื้นที่อีก เชื่อว่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้จึงคลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม น้ำฝนเป็นสิ่งที่ผมห่วง เพราะตอนนี้ยังไม่หมดช่วงมรสุม แต่เชื่อว่า กทม.จะสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ ปัจจัยทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น ประกอบด้วย น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน ซึ่ง กทม.เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไว้รอบด้าน อีกทั้ง สำนักการระบายน้ำยังได้เตรียมกระสอบทรายไว้ 3 ล้านกระสอบ เพื่อแจกจ่ายประชาชนรับมือเหตุน้ำท่วม ยังคงมั่นใจว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯแน่นอน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวินยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมของพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม ที่ผ่านมา มีการขุดลอกคู คลองในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ กทม. ขณะเดียวกัน สั่งการให้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.คอยติดตามสถานการณ์ พร้อมมอบหมายสำนักการระบายน้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย ประชาชนจะเห็นได้ว่าปีนี้สภาพน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ทุเลาลง ยังไม่ถึงขั้นต้องแจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง ส่วนจุดฟันหลอตามแนวเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดที่ไม่สามารถก่อสร้างแนวเขื่อนได้ เพราะอยู่ในพื้นที่เอกชนและบางส่วนอยู่ระหว่างฟ้องร้องต่อกันนั้น กทม.จะนำกระสอบทรายไปอุดและปิดกั้นพื้นที่ไว้ไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

ด้านนายพงศ์ศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการบริการจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนั้น จะเชื่อมกับลุ่มน้ำเหนือตอนบน ปัจจุบันปริมาณน้ำจาก จ.นครสวรรค์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังมีระดับน้ำไม่สูงมาก ส่วนแผนการผันน้ำเหนือของกรมชลฯ จะผันออกทางซ้ายและขวาของพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผ่านทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนและฝั่งตะวันออกสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ก่อนจะไหลมารวมกันยังแม่น้ำป่าสัก ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ไม่สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่น้ำในทุ่งนอกแนวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริค่อนข้างสูง เพราะตอนนี้ไม่สามารถผันน้ำออกสู่ จ.นครนายก ได้อย่างเต็มที่ แม้สถานการณ์ยังควบคุมได้ แต่ต้องติดตามช่วงมรสุมช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ กรมชลฯ ได้ก่อสร้างระบบระบายน้ำที่คลองรังสิต ทั้งสถานีสูบน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำโดยรอบพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี มีปริมาณปริ่มตลิ่ง ขณะที่พื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ตะวันออก นั้น พบตามคูคลอง ท้องร่อง บ่อน้ำในพื้นที่เกษตรของประชาชนมีปริมาณเต็มทุกพื้นที่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image