ผู้ประกอบการวอนรัฐร่างพ.ร.บ.ขจัดแรงงานบังคับฯ อย่ากระทบกิจการประมง

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงจาก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ประมาณ 500 คน ไปรวมตัวกันที่กระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. … ทั้งนี้การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่กระทรวงแรงงานได้จัดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับฯ มีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากหลายสาขาอาชีพ ที่มีการจ้างแรงงานได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงด้วย

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการเรือประมง ได้รวมตัวกันจากหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ เพื่อเข้าร่วมการสัมมนากับกระทรวงแรงงานเป็นครั้งที่ 5 มีวัตถุประสงค์ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการเรือประมง เนื่องจากร่างกฎหมายนั้นไม่มีการแยกประเภทของอาชีพ เป็นการบังคับใช้ทุกอาชีพ แต่เนื่องจากลักษณะการทำงานที่ต่างกัน ข้อกฎหมายนี้จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงเป็นอย่างยิ่ง

นายมงคล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ 1.ทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง ก่อนมีผลบังคับใช้ 2.วิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบ และมีการแสดงข้อมูลที่โปร่งใส เพื่อลดความผิดพลาดในการจัดทำร่างกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าการทำประมงในปัจจุบัน ไม่มีแรงงานค้ามนุษย์ เนื่องจากมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและลูกจ้างประมงก็ได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย

Advertisement

 

ด้านนายสมชาย เลิศมงคลสมุทร สมาชิกสมาคมการประมงสมุทรปราการ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการประมงดำเนินการจัดการควบคุมลูกจ้างแรงงานของตนตามกฎหมาย แต่ด้วยลักษณะของการทำงานจึงค่อนข้างควบคุมได้ยาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ว่าจ้างตกเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และต้องเสียค่าปรับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ตัวอย่างเช่น การห้ามให้ผู้ว่าจ้างเก็บเอกสารของลูกจ้าง แต่หากเอกสารสูญหาย หรือเมื่อมีการเรียกตรวจเอกสารกับลูกจ้างแล้วไม่พบ จะมีบทลงโทษกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องเสียค่าปรับ จึงต้องการให้กฎหมายมีความเป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการและลูกจ้าง

ด้านนายจรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับฯ เท่านั้น ยังไม่มีการร่างเนื้อหาใดๆ และจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ประกอบเรือประมง ทั้งนี้ต้องการให้ผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น และกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออกบังคับใช้ ส่วนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเรือประมงที่ได้รับผลกระทบนั้น จะนำมาปรับแก้ข้อกำหนดในกฎหมายเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ย้ำว่าไม่ได้เพิกเฉยในความคิดเห็นของประชาชน หากกฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเรือประมง ก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image