นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เริ่มหมดหวัง! เหตุไร้วี่แววรัฐให้ความสำคัญแบนสารเคมี 3 ชนิด

หลังจากนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อหาข้อสรุปการใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กล่าวภายหลังประชุมว่า  ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวบรวม วิเคราะห์  และจะมีการของขยายเวลาการพิจารณาจากเดิม 60 วัน เพิ่มไปอีก 60 วัน พร้อมขอให้ภาคส่วนที่ต้องการส่งข้อมูลมาประกอบการพิจารณา ให้ส่งมาภายในเดือนกันยายนนี้เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบนั้น

เมื่อวันที่ 21 กันยายน  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมในการประชุม เท่าที่ทราบในที่ประชุมได้บอกว่าจะยังไม่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ แต่หลังการประชุมทางนายสุวพันธุ์ได้มีการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าจะยังคงมีการเดินหน้าแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทำให้เกิดความสับสน และจะมีการขอยืดเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ซึ่งเป็นการยืดเยื้อเวลา เพื่อพยายามให้มีการใช้สารเคมีต่อไปที่ผ่านมาทางนักวิชาการมีหลักฐานการเสียชีวิต การเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีชัดเจนและมีการส่งข้อมูลทั้งหมดให้แล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่าการทำงานไม่ชัดเจน     อย่างไรก็ตาม เห็นว่ามติแบนตามนโยบายของ 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 เป็นมติที่ดีที่สุดแล้ว การพิจารณาไม่ควรลากยาวมาถึงขนาดนี้

“หลังจากนี้จะได้มีการรวบรวมผลกระทบจากการใช้สารเคมีจากหน่วยงานต่างๆส่งให้กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งเพื่อให้เป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการฯ ซึ่งข้อมูลผลกระทบการเจ็บป่วย การตายทั้งหมดมีการรวบรวมไว้ให้หมดแล้วและเคยส่งให้ไปแล้ว ทุกอย่างชัดเจนขนาดนี้ คิดว่ารัฐบาลควรใช้ ม.44 จัดการกับเรื่องนี้ เพราะหากไม่ทำพยายามยื้อให้ไปต่อ   คง ไม่ทันส่งเรื่องไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่จะมีการพิจารณากฎหมายในเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคมนี้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การที่จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯต่อไป และขอยื้อเวลาออกไป 60 วันเพราะเกรงว่าจะพิจารณาไม่ทันนั้น เห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เป็นการชี้ชัดแล้วว่ากรรมการชุดนี้ต้องการให้มีการยื้อเวลาออกไป ซึ่งในความคิดเห็นของตนนั้นไม่ได้คัดค้านที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาฯชุดดังกล่าวขึ้นมา แต่คิดว่านายกฯมีอำนาจภายใต้ระเบียบการกำกับดูแล ซึ่งเมื่อมีหลักฐานข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนในแง่สุขภาพที่ชัดเจน ก็น่าจะสามารถดำเนินการแบนได้เลย โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษที่จะทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขาในการทำงานตามมา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image