“พื้นที่สาธารณสุขเฉพาะ” มาตรการช่วยถิ่นทุรกันดาร ความหวังคนแม่ฮ่องสอน

ภาพ “โซ่พันล้อรถยนต์” ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามถิ่นทุรกันดาร อาจไม่คุ้นชินตาสำหรับชาวเมืองพื้นราบมากนัก แต่สำหรับที่ “แม่ฮ่องสอน” ยิ่งในถิ่นทุรกันดารตามเขาตามดอยแล้ว นับเป็นเรื่องปกติ..

เพราะหากไม่ทำเช่นนี้อาจมีปัญหาติดหล่ม หรือการขับเคลื่อนค่อนข้างลำบาก เพราะสภาพภูมิประเทศแม่ฮ่องสอนไม่ใช่แค่ขึ้นเขาขึ้นดอย แต่ยังเป็นเส้นทางสลับซับซ้อนมีหลายพันโค้ง ให้ผู้สัญจรถึงกับปวดหัวมานักต่อนัก

และด้วยสภาพภูมิประเทศที่ลำบาก ทำให้มีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และภาระงานที่ไม่สอดคล้องกับอัตรากำลังด้านสาธารณสุขอีก ดังนั้น ไม่ใช่แค่การบริการประชาชน แต่ในแง่ของการบริหารจัดการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่มีความจำเพาะ แตกต่างจากพื้นที่ราบทั่วไป แต่งบประมาณ รวมไปถึงอัตรากำลังคนที่ได้รับกลับไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ

Advertisement

“แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีความจำเพาะในตัวเอง ทั้งสภาพภูมิประเทศ การเข้าถึงบริการของประชาชน รวมไปถึงติดชายแดน การให้บริการจึงไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังมีชาวเขาชาวดอย มีกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ ปัญหางบประมาณ แม้พื้นที่จะมีการบริหารจัดการ ควบคุมค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม แต่เรื่องอัตรากำลังของบุคลากรก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี” นพ. จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน


ทางออกหนึ่งในการบรรเทาปัญหา ที่ถูกพูดกันมากในแวดวงสาธารณสุข คือ การผลักดันให้เป็น “พื้นที่สาธารณสุขเฉพาะ”

นพ. จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นพ.จตุชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นในการผลักดันให้จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่สาธารณสุขเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่นำร่องก่อน เพราะประเทศไทยยังมีพื้นที่จำเพาะที่มีความจำเป็นหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถถูกจัดสรรงบประมาณ หรือการเขียนกรอบอัตรากำลังเหมือนพื้นที่ทั่วไปได้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะมีการรวบรวมข้อมูล ตัวเลขความจำเป็นต่างๆ รวมไปถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และเรื่องอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ ส่งไปยังผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับชั้น เพื่อเรียกถึงความจำเป็นดังกล่าว

Advertisement

แม่ฮ่องสอน มีความจำเป็นในหลายๆด้านที่ต้องเป็นพื้นที่สาธารณสุขเฉพาะ เพราะการขับเคลื่อนงาน จำเป็นต้องใช้ คน เงิน ของ มากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นที่ที่เข้าถึงประชาชนยาก ยิ่งในป่า บนเขาบนดอย หรือการสกัดโรคตามแนวชายแดน แม้ทุกวันนี้โรงพยาบาลทุกระดับในจังหวัดจะมีการบริหารจัดการที่ประหยัด ควบคุมค่าใช้จ่าย และหาแนวทางในการเพิ่มรายได้เข้ามาเพื่อใช้บริหารจัดการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ อย่างอัตรากำลังคน ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ค่า FTE หรือกรอบอัตรากำลังกับภาระงานจะใช้รูปแบบทั่วไปคือ ร้อยละ 80 คงไม่ได้ อาจต้องเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 90 เป็นต้น

ด้าน นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โรงพยาบาล(รพ.)ศรีสังวาลย์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) ระดับจังหวัด มีเตียง 150 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกวันละ 600 คน และผู้ป่วยในปีละ 40,000 คน ซึ่งเราได้รับงบประมาณมาก็ติดลบทันที เพราะต้องหักค่าเงินเดือนบุคลากร อย่างได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 85 ล้านบาท แต่ หักเงินเดือนบุคลากรก่อนอยู่ที่ 87 ล้านบาท ขณะที่งบจากกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตน 8,000 คน ได้รับงบประมาณ 14 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายไปทางเชียงใหม่ เนื่องจากต้องมีการส่งต่อ 10 ล้านบาท เหลือที่เราแค่ 4 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ค่ายาอีก 100 ล้านบาท ที่ผ่านมาเราก็บริหารจัดการเพิ่มรายรับ ลดรายจ่าย ทั้งเรื่องการจัดทำห้องพิเศษ ลดราคาค่าห้องพิเศษ เพื่อดึงให้ผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้น เพราะปกติจะไปพื้นที่เชียงใหม่มากกว่า เพราะพื้นที่เราค่อนข้างห่างไกล รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการบริการตามเงื่อนไขของ สปสช.ในกลุ่มรักษาโรคร่วม หรือดีอาร์จี ฯลฯ

“หากจ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่เฉพาะได้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะทุกวันนี้การจัดสรรงบ หรืออัตรากำลังตามพื้นที่ทั่วไปคงไม่ได้ เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศเดินทางค่อนข้างลำบาก อย่างรพ.สั่งซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ก็จะแพงกว่าที่อื่น ทั้งที่จำเป็นนำมารักษาคนไข้ อย่างถังออกซิเจน บริษัทขายเรา 18-19 บาท แต่ขายที่อื่นราคา 4 บาท ดังนั้น หากปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เฉพาะ ก็จะช่วยให้ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของพื้นที่จริงๆ รวมไปถึงบุคลากรด้วย อย่างที่นี่จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเยอะ แต่มีพยาบาลที่นั่งรถส่งตัวได้แค่ 11 คน เพราะน้องใหม่ก็ยังไม่คุ้นทาง เพราะพื้นที่มีโค้งมาก หลายคนอาเจียนไปเยอะ ปวดหัวกันไปตามๆกัน ขณะที่พยาบาลไปกับรถรีเฟอร์หรือรถส่งตัว 2 คน ก็ต้องไปเป็นวันๆ อย่างต่ำ 6-7 ชั่วโมง หลายครั้งต้องค้างคืน ทำให้ที่รพ.ขาดแคลนพยาบาลอีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามาตลอด ประกอบกับหลายคนก็ลาออกก็มี” นพ.พงษ์พจน์

ขณะที่ นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า บอกว่า โรงพยาบาลปางมะผ้า เป็นโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ขนาด 30 เตียง ดูแลประชากรคนไทยสิทธิบัตรทอง 14,000 คน เป็นสิทธิข้าราชการ 500 คน สิทธิประกันสังคม 500 คน และกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะอีกราว 5,000 คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนไม่มีสิทธิใดๆเลยอีกราว 1,000 คน โดยมีแพทย์มี 4 คน รวมผู้อำนวยการฯ ส่วนพยาบาล 33 คน ซึ่งในการบริหารจัดการนั้น ในส่วนของแพทย์เพียงพอ แต่ในส่วนของพยาบาลยังต้องการเพิ่ม เพื่อสอดคล้องกับภาระงาน

นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า

อย่างกรอบอัตรากำลังของพยาบาลของ รพช.ในจ.แม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด 7 แห่ง แต่พบว่า 3-4 แห่งเต็มแล้ว แต่ภาระงานก็ยังมีอยู่ ซึ่งจริงๆ ต้องการเพิ่มอีกประมาณ 2-3 อัตรา เห็นได้ชัดจากงานส่งต่อผู้ป่วย อย่างพยาบาลเข้าเวร ได้พักไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องไปกับรถรีเฟอร์ ซึ่งไปแต่ละครั้งใช้เวลาเป็นวันๆ 4 ชั่วโมงบ้าง 8 ชั่วโมงบ้าง อย่างภรรยาผมเป็นพยาบาล ก็ต้องไปกับรถรีเฟอร์ก็มี ขณะที่พื้นทีราบอื่นๆหลายแห่งที่เป็นสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มีพยาบาลอยู่ประจำ 2 แห่งก็มี

“หากมีการปรับเป็นพื้นที่สาธารณสุขเฉพาะได้ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ ซึ่งผมไม่ได้ต้องการว่าต้องได้รับงบประมาณมากมาย แต่ขอให้เพิ่มตามความจำเป็นของพื้นที่ รวมทั้งอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภาระงานในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงค่าตอบแทนของน้องๆพยาบาล เพราะอย่างที่นี่น้องพยาบาลมาใหม่ได้เงินเดือนประมาณ 10,000 บาท แต่หากไปเอกชนจะได้เป็น 2-3 เท่า หากมีแรงจูงใจพวกเขาอยู่ในระบบก็จะดีขึ้นด้วย เพราะล่าสุดก็เห็นว่าพยาบาลที่ทำงานในพื้นที่สูงก็อยากลาออก หลายคนลาออกไปแล้วก็มี” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า กล่าว

นายสรศักดิ์ ยาเขต เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขชุมชนบ้านไม้ลัน ซึ่งเป็นสาขาของรพ.สต.บ้านไม้ลัน บอกว่า ที่นี่เป็นให้บริการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ให้บริการประชากรคนไทย 1,000 คน นอกนั้นก็เป็นผู้ป่วยตามชายแดนต่างๆวันละ 20 คน หลายคนไม่สามารถจ่ายค่ารักษา หรือจ่ายได้ตามความสามารถ แต่ก็ต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งหากสกัดโรคได้ก็จะป้องกันการแพร่ระบาดโรคได้ด้วย ส่วนใหญ่โรคชายแดนจะพบคือ วัณโรค มาลาเรีย ฯลฯ

ตัวอย่างของปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่สูงทุรกันดาร จึงไม่สามารถบริหารจัดการได้เหมือนพื้นที่ปกติทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image