ภาคปชช.ถามรัฐใช้งบมหาศาล ‘บำเหน็จบำนาญ’ ขรก. 4 แสนล้านยังไม่พอหรือ?

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพร้องรัฐ ต้องทำระบบสวัสดิการเงินออมทั้งระบบ หากมุ่งแค่ข้าราชการ ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น  แนะเพิ่มเงินสะสมสัดส่วนภาครัฐกองทุนออมแห่งชาติ  เหตุ 1,250 บาทต่อปีไม่พอ! ลั่นเงินสูงอายุก็น้อยขอเพิ่มด้วย เหตุเข้าสังคมผู้สูงวัยต้องเร่งดูแล

เมื่อวันที่ 23 กันยายน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีประเด็นข้อเรียกร้องแก้ไขกฎหมายบำเหน็จบำนาญ โดยขอให้เพิ่มเงินบำนาญชราภาพของข้าราชการเกษียณ เนื่องจากปัจจุบันไม่พอค่ายังชีพ ว่า หากรัฐบาล หรือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังไปแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มบำนาญให้ข้าราชการจริง ก็จะยิ่งสร้างปัญหา ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น  เพราะการจะช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเงินบำนาญ ต้องทำทั้งระบบสวัสดิการภาครัฐ  การจะมาทุ่มให้แค่กลุ่มข้าราชการไม่ได้ เพราะทุกวันนี้งบประมาณให้ข้าราชการก็บานปลายมาก โดยรวมแต่ละปีเฉลี่ย 400,000 ล้านบาทสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งคาดว่ามีข้าราชการบำเหน็จบำนาญประมาณ 1 ล้านคน ส่วนตัวเลขชัดๆตนไม่มี

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า จริงๆ ต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิการภาครัฐภาพรวมมากกว่า อย่างสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคนในระบบบัตรทอง 48-49 ล้านคน ได้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 150,000-170,000 ล้านบาท เงินยังชีพผู้สูงอายุประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท และเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติอยู่ที่ 1,000 กว่าล้านบาท รวมกันยังไม่ถึง 3 แสนล้านด้วยซ้ำไป  ทั้งๆที่คนจำนวนมากกว่า หรือแม้แต่สิทธิประกันสังคม อย่างผู้ประกันตนเราก็ต้องจ่ายเงินสมทบการออมเอง ซึ่งถ้าอายุเกษียณเรายังได้เฉลี่ยเดือนละ 3 พันกว่าบาทสูงสุดสมทบครบ 35 ปี ได้มากสุดแค่ 7,500 บาทเท่านั้น

“อยากเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญสวัสดิการในกรณีคนที่ไม่สิทธิใดๆ หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบ อย่างทุกวันนี้ในกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ที่ให้เราออมเงินได้ส่วนหนึ่ง และรัฐบาลจะออมให้อีกส่วน แต่ไม่เกินสูงสุด 1,200 บาทต่อคนต่อปี ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ตรงนี้รัฐต้องมาพิจารณาเพิ่มให้ไม่ดีกว่าหรืออย่างไร คนกลุ่มนี้เงินน้อยกว่าข้าราชการเยอะ  ดังนั้น การแก้ปัญหาเงินออม เพื่อใช้ยามเกษียณ ต้องแก้ไขทั้งระบบ ซึ่งรัฐต้องเข้าใจก่อนว่า การจัดสวัสดิการให้ประชาชนเป็นเรื่องของการดูแลคน เพราะทุกวันนี้รัฐก็ยังกระจายรายได้ไม่ได้ ปัญหาคนรวยกระจุกตัว คนจนกระจายตัวยังมีอยู่ คนทำงานรายวันได้แค่วันละ 300 บาท ถามว่าเพียงพอหรือไม่  ขนาดข้าราชการบางกลุ่มได้เงินบำนาญ 20,000 บาทบอกไม่เพียงพอ แล้วคนกลุ่มนี้จะพอกินพอใช้หรืออย่างไร ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงๆ” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า  ที่ผ่านมามีการศึกษาเส้นขีดความจนอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจริงๆไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพภาพรวม แต่อย่างน้อยจะช่วยในเรื่องมีอาหารรับประทานได้ อย่างไรก็ตาม เส้นขีดความจนที่เคยมีการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด ณ ตอนนี้ ก็ยังน้อยกว่าเงินที่ข้าราชการบำนาญที่ออกมาเรียกร้องได้รับ ที่สำคัญยังน้อยกว่าเงินที่ภาครัฐจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งข้าราชการ หรือประกันสังคม โดยปัจจุบันภาครัฐมีเงินผู้สูงอายุให้ แต่อยู่ที่ 600 บาท และเงินกอช. ก็มีขีดแบ่งให้เก็บออมเฉพาะแรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ 2 สิทธิข้างต้น แต่ก็มีกรอบเพดานที่ภาครัฐจะช่วยสะสมอีก จริงๆ ในเรื่องเงินผู้สูงอายุ 600 บาทยังซื้อข้าวไม่ได้ทั้งเดือนด้วยซ้ำ  ดังนั้น รัฐต้องเพิ่มเงินสวัสดิการส่วนนี้ และให้ทุกคนอายุตั้งแต่ 60 ปีต้องได้หมด จะเป็นวิธีที่ดีกว่า

“อย่างพี่เป็นผู้ประกันตน เกษียณไปได้เงินแค่ 3 พันกว่าบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินออมตั้งแต่ทำงาน ถามว่าเพียงพอหรือไม่ และถ้ามาบวกกับเงินผู้สูงอายุก็ไม่พออยู่ดี แต่หากเพิ่มจำนวนเงินขึ้นมาก็จะช่วยให้อยู่ได้ขึ้นมาอีก ส่วนข้าราชการที่บอกว่าไม่พอใช้ ถ้ามีเพิ่มเงินสูงอายุ และกำหนดว่าให้ทุกคนทุกสิทธิที่อายุ 60 ปีขึ้นไปก็จะช่วยได้ด้วย จึงเห็นว่ารัฐต้องแก้ทั้งระบบการออม ยิ่งเข้าสังคมผู้สูงอายุ ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้น” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า เงินผู้สูงอายุจะแบ่งการจ่ายเป็นขั้นบันได ดังนี้ อายุ 60 -69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70 -79 ปี จะได้รับ 700 บาท  อายุ 80 -89 ปี จะได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image