เคยไหม! ลูกหลานช้อปปิ้งออนไลน์เพลิน กระทบการเงิน ด้านจิตแพทย์แนะแนวทางป้องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งมีความเสี่ยงจากผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์มาก ไม่เว้นแม้แต่การซื้อของออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท หากดูแลไม่ดีอาจทำให้บุตรหลานหลงเชื่อ และซื้อของจำนวนมาก โดยไม่มีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างดีพอ จนสุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดการลักเล็กขโมยน้อย ไปจนถึงขโมยของจำนวนมาก เพื่อมาซื้อของผ่านทางออนไลน์ จนทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายท่านเป็นกังวลนั้น

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงดูบุตรหลานที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจของแต่ละช่วงวัย เนื่องจากวัยนี้อาจมีความต้องการต่างๆ อย่างการซื้อของ การช้อปปิ้งออนไลน์ ยิ่งปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้าถึงง่าย การซื้อของผ่านออนไลน์ก็มากขึ้น   แต่หากมากเกินไปก็ต้องระมัดระวัง และต้องบริหารจัดการเงินให้เป็น อย่างไรก็ตาม ส่วนข้อกังวลเรื่องบุตรหลานซื้อของมากจนเกินไป ต้องมีการสอน แนะนำการบริหารจัดการทางการเงินให้ดี และต้องไม่ให้พวกเขาหมกหมุ่นอยู่กับอินเตอร์เน็ตมากจนเกินไป ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรหลานวัยรุ่นให้ยึดหลัก 4 ก และ  2 ม

“ 4 ก  แบ่งเป็น 1. กิจกรรม ต้องให้เด็กๆได้รู้จักทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนหนังสือ ต้องให้พวกเขาได้ค้นหาตัวตนของตัวเองว่า ชอบอะไรผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา การทำอาหาร หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาทำแล้วมีความชอบ  หรือการร่วมในชมรมต่างๆ เพื่อให้ไม่ต้องอยู่กับอินเตอร์เน็ตมากเกินไป หรืออยู่แต่การช็อปปิ้งออนไลน์ หรือหลงเชื่อการรีวิวสินค้าต่างๆ เป็นต้น 2.กติกา ต้องวางกฎกติกา ไม่ใช่ดุ ตำหนิไปเรื่อย อย่างหากจะเล่นเกม หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ต้องมีกฎกติกาว่า ต้องไม่เกินกี่ชั่วโมง และต้องนอนเมื่อไหร่ 3. เก็บมาเล่า หมายถึงครอบครัวต้องมีการพูดคุยกัน เพราะเด็กวัยนี้ชอบฟัง และอยากรู้ว่าพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ในสมัยวัยรุ่นเคยผ่านประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจ ให้พวกเขารู้สึกว่า สามารถฟัง และเล่าสิ่งต่างๆให้เราฟังและเข้าใจได้ และ 4.กอด  เป็นการถ่ายทอดความรักที่ดี แม้จะเข้าสู่วัยรุ่น แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถกอดลูกด้วยความรักจากพ่อและแม่ หรือจากผู้กครอง เป็นการแสดงความรู้สึกห่วงใยได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วน 2 ม  คือ 1. ไม่ใช้อารมณ์ วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีอารมณ์พุ่งพล่าน การจะตักเตือนต้องไม่ใช้อารมณ์ และ 2. ไม่ตามใจ พ่อแม่วัยรุ่นมักตามใจ อยากได้อะไร ก็ให้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะหลายอย่างเป็นของแพงเกินไป ในขณะที่เจ้าตัวยังหาเงินเองไม่ได้ หรือแม้แต่หาเงินได้ ก็ต้องมีการสอนในการบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เป็นต้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าบางกรณีบุตรหลานมีการขโมยเงินเพื่อไปซื้อของ แต่กลับอ้างว่าป่วยเป็นโรคชอบหยิบฉวย นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า โรคหยิบฉวย ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการเงิน แต่ทำเพราะตอบสนองทางจิตใจ ซึ่งของที่หยิบไม่ได้มีความจำเป็นจริงๆ โดยผู้ป่วยทำไปเพราะสูญเสียการควบคุมตัวเอง ทำไปเพราะอยากทำ รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ทำ ซึ่งของที่หยิบมาก็ไม่ใช่เงิน หลายอย่างไม่มีค่า แต่แค่อยากทำ ซึ่งจุดนี้ต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับกลุ่มอาการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image