ปธ.บอร์ดอภ.รับมอบ ‘กัญชา’ 100 กก. ! ผลิตน้ำมันหยดใต้ลิ้น หนุน ‘ม.44’ ปลดล็อกกฎหมาย (คลิป)

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 กันยายน ที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)  นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เข้ารับมอบกัญชาของกลาง จำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด(บข.ปส.) ที่ได้ส่งมอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อให้ อภ.นำไปศึกษาวิจัยทางการแพทย์ โดยของการดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ส่งมอบนอกรอบเวลาปกติที่กัญชาของกลางจะถูกนำไปเผาทำลายปีละ 1 ครั้งในวันยาเสพติดโลก 26 มิถุนายนของทุกปี

ต่อมานพ.โสภณ พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าวการรับมอบกัญชาของกลางครั้งนี้ ว่า   ก่อนหน้านี้ ทางอภ.ได้ทำเรื่องขออนุญาตในการนำกัญชาของกลางเพื่อนำมาวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งล่าสุดในวันนี้(25 ก.ย.) จึงได้รับมอบของกลางกัญชาจากทางกองบัญชาการตำรวจฯ มาทั้งหมด 100 กิโลกรัม เพื่อหาสารสกัดสำคัญทั้งทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารที่กล่อมประสาท และซีบีดี (CBD) สำหรับรักษากลุ่มโรคลมชัก โดยทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อหาปริมาณสารสำคัญ และการปนเปื้อนสิ่งต่างๆ อาทิ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น ทั้งนี้ วางเป้าหมายว่าจะต้องได้เป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งในจำนวนของกลางที่รับมานั้น 100 กิโลกรัมสกัดได้ 10-15 ลิตรแบบเข้มข้น โดยต้องทำเป็นเจือจางให้ได้ น้ำมันกัญชาประมาณ 18,000 ขวด หรือ ขวดละ 5 ซีซี

“โดยจากข้อมูลวิชาการทั่วโลกพบว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์เบื้องต้นพบ 4 กลุ่มโรค คือ 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดรุนแรง ที่เดิมต้องใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาอาการปวด ส่วนข้อเสนอเพื่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสันนั้นก็จะศึกษาไปพร้อมกัน รวมถึงการใช้ในการแพทย์แผนไทยที่มีกว่า 100 ตำรับก็อาจจะต้องรอกฎหมายปลดล็อกก่อน” นพ.โสภณ กล่าว และว่า สำหรับของกลางที่ได้มาจะมีทั้งแบบเป็นดอก เป็นแห้ง แต่ละชนิดก็จะต้องมีการสกัดสารสำคัญออกมาดูว่า แบบไหนได้สารสำคัญเพื่อใช้ทางการแพทย์มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการศึกษาวิจัยครั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ได้ใช้เรื่องการผ่อนคลาย จึงไม่ต้องกังวล ส่วนในเรื่องการควบคุมการใช้ไม่ให้หลุดออกไปในทางผิดกฎหมาย มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า อภ.ยังมีแนวคิดศึกษาพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีคุณภาพ ก็มีการปรับปรุงพื้นที่ภายใน อภ.เพาะปลูกกัญชา 2 สายพันธุ์ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท  เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าต่อในระดับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ตั้งความหวังว่ากฎหมายจะสามารถปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคทางการแพทย์ได้ภายในปี 2562 หรืออย่างช้าที่สุดคือเลื่อนไปอีก 3 เดือน  ขณะนี้กฎหมายอยู่ที่การหารือของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  และทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ก็มีการพูดถึงการใช้มาตรา 44 มาปลดล็อกเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเตรียมสกัดสารเพื่อใช้ทางการแพทย์และทดลองในมนุษย์เดือนพฤษภาคม จะมั่นใจว่ากฎหมายจะปลดล็อกได้จริงหรือไม่  นพ.โสภณ กล่าวว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมาตนได้ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ท่านอยู่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งทราบว่ามีการแบ่งการทำงานเป็น 2 ชุด  โดยแบ่งพิจารณาร่างกฎหมาย ชุดละฉบับ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าจะพิจารณาทันหรือไม่ เพราะจริงๆร่างกฎหมาย หรือร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดรับหลักการไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ในชั้นกรรมาธิการฯ คือ 90 วัน ซึ่งไม่ทันก็ขอขยายอีก 90 วัน โดยที่เราตั้งเป้าว่าศึกษาในมนุษย์เดือนพฤษภาคม 2562 เพราะติดตามโรดแมปคือ เราคิดว่าสภาฯพิจารณาเร็วที่สุด 5 เดือน และกฎหมายมีผลอีก 6 เดือนก็ลงเดือนพฤษภาคม

“ซึ่งถ้าช้ากว่านี้ก็อาจเลื่อนไปอีก 3 เดือน แต่ตามข่าวเห็นว่าทางสนช.จะรวบรวมรายชื่อ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าจะรวดเร็วแค่ไหน แต่ก็มีอีกทางที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ส.เสนอคือใช้มาตรา 44 แต่ทางอภ.ก็ต้องดำเนินการของเราควบคู่ไปด้วย จะรอกฎหมายเลยคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมคิดว่ามาตรา 44 ก็จะทำให้ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง รองผบ.ชปส. กล่าวว่า แต่ละปีมีการจับกุมกัญชาได้ประมาณ 7 ตัน บางปีจับที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศได้มากถึง 20 ตัน ที่ผ่านมาถูกมองเป็นขยะรอเวลาเผาทำลาย ซึ่งเดิมเคยมีทีมศึกษาวิจัยกัญชาจากมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนเรศวรขอของกลางไปศึกษา แต่เป็นเพราะเก็บไว้นานเลยไม่ค่อยคุณภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่นำกัญชาของกลางที่เพิ่งจับกุมได้ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ราคาสูงนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งมอบให้กับทางอภ.ทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ต่อ และในอนาคตหากการศึกษาเป็นไปด้วยดี ก็สามารถประสานขอของกลางมาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน

ผศ. วิเชียร กีรตินิจกาล กล่าวว่า สายพันธุ์หากพิจารณาจากของกลางที่นำมาวันนี้มี 3 กลุ่ม คือ ห่อฟอยล์สีทอง ห่อพลาสติก เป็นกัญชาสายพันธุ์ไทย แต่ไปปลูกที่ประเทศลาว และอีกกลุ่มคือดอก เป็นของกลางที่นำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน ทั้งนี้กัญชาสายพันธุ์ไทยนับว่ามีชื่อเสียง มีสารสำคัญในปริมาณมาก ทั้งนี้ทั่วโลกกัญชาถือว่ามาแรงมากแคนาดากำลังจะประกาศในเดือนนี้ให้สูบเพื่อความเพลิดเพลินได้ทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศออสเตรเลียมาทีหลัง แต่พยายามผลักดันกฎหมายโดยตั้งเป้าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกยาจากกัญชามูลค่าประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยถึง 3 เท่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเราหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ไทยมาศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์

“หากต้องนำเข้ามาจะมีราคาแพงมาก หลายชนิดกิโลกเป็น 3 แสนบาท  อย่างน้ำมัน 1 ซีซี หรือ 5 หยด จะมีราคา 1 พันบาท แต่ถ้าอภ.ปลูกและพัฒนาเองจะทำให้ได้ยาจากกัญชาในราคาถูกลง อนาคตก็อาจจะต้องปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมเปิด ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามีแนวโน้มสูงที่จะนำกัญชามารักษาโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ได้” ผศ.วิเชียร กล่าว

เมื่อถามว่ากัญชาไทยถือเป็นสายพันธุ์ดีที่สุดของโลกหรือไม่ ผศ.วิเชียร กล่าวว่า ใช่ โด่งดังมานาน เพราะมีสารสำคัญอยู่ ซึ่งตรงนี้ต้องนำมาศึกษาวิจัย อย่างที่บอกทั่วโลกกำลังตะลึงกับกัญชา เพราะนำมารักษาโรคได้

ด้าน ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์กัญชาในส่วนของไทยจะเป็นสายพันธุ์ซาติวา (Sativa) โดยมีสาระสำคัญ 2 ตัว คือ THC มีผลต่อจิตประสาท  และ CBD กลุ่มแอนตี้ออกซิเดนท์ และใช้รักษาโรคลมชักชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาครบวงจรของอภ. คือ 1.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ได้สารสกัดจากกัญชาให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้  2.ปรับปรุงสายพันธุ์และพัฒนาการปลูก ภายในเดือนมีนาคม 2562  3.วิจัยและพัฒนายาในรูปแบบน้ำมันหยดใต้ลิ้นในผู้ป่วยให้ได้เดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณากัญชาทางการแพทย์ชุดที่ 3 จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรักษาโรคอะไรได้บ้าง โดยกรณีนี้ตั้งแผนการดำเนินงานเพื่อล้อตามระหว่างรอกฎหมายใหม่ปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ก่อน 4. เมื่อมีการประเมินว่าการทดลองเป็นไปด้วยดี มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลก็จะขยายผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมภายในเดือนธันวาคม 2563

“ในเรื่องความปลอดภัย มีการเข้มงวดมาก  โดยห้องที่เก็บของกลาง เราจะมีระบบบันทึกการเข้าออก จริงๆมีทุกเส้นทางที่กัญชาผ่านทั้งสิ้น รวมไปถึงจำนวนปริมาณที่ทำจะมีการบันทึก และมีการรายงานไปยัง อย.ทุกเดือน” ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image