อันตรายโรคหัวใจ! ภัยร้ายคร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นคน พบมากในกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงขอเชิญชวนประชาชนที่มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วน สูบบุหรี่ และไขมันในเลือดสูง หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคหัวใจ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าปี 2558 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 17.7 ล้านคน

สำหรับในประเทศไทย พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการป่วยและตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากข้อมูลในปี 2555-2559 พบจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนี้ 15,070 ราย  17,394 ราย   18,079 ราย  19,417 ราย และ 21,008 ราย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปี 2561 นี้ สมาพันธ์หัวใจโลก ได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “My Heart, Your Heart : ใจเขา ใจเรา” ซึ่งเป็นการทำสัญญากับตัวเอง โดยประเด็นในการสัญญา 3 ข้อ คือ

1.สัญญา…ว่าจะดื่มกินอย่างชาญฉลาด ด้วยการลดบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลและน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน เปลี่ยนจากการกินขนมหวานมากินผลไม้สดแทน งดดื่มแอลกอฮอล์หรือควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม พยายามงดเว้นอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง

Advertisement

2.สัญญา…ว่าจะกระฉับกระเฉงมากขึ้น ด้วยการตั้งเป้าอย่างน้อย 30 นาที กับการออกกำลังกายในระดับเข้มข้น 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์

3.สัญญา…ว่าจะโบกมือลาบุหรี่ ด้วยการเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุดที่ดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี, เลิกบุหรี่ภายใน 2 ปี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด, การสูดดมควันบุหรี่ของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยตัวคุณเองสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังมีผลดีต่อคนรอบข้างด้วย ถ้าไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเองควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ การมีภาวะความดันโลหิตสูง การมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ การเป็นโรคเบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย การไม่กินผักและผลไม้ และความเครียด ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนให้ประชาชนทราบถึงปัจจัยเสี่ยง และอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และหมั่นตรวจเช็กความเสี่ยงของแต่ละบุคคลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตรวจเช็ก ส่วนสูง น้ำหนัก รอบเอว ดัชนีมวลกาย ไขมัน และน้ำตาลในเลือด โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถให้คำแนะนำและคำปรึกษาว่าระดับไหนคือความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัมพาต และการดูแลรักษาร่างกายที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image