มกอช.พบ ‘ผัก-ผลไม้’ 7 ชนิดมีสารพิษตกค้างสูงสุด ก.เกษตรฯตอบเลี่ยง ‘แบนสารเคมี’

เมื่อวันที่ 28 กันยายน  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวความร่วมมือคุมเข้มสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า การรับประทานผักผลไม้มากกว่า 400 กรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น หากส่งเสริมให้คนไทยกินมากขึ้นจาก 100 กรัม เป็น 400 กรัมต่อวัน จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก 5.2 แสนล้านบาท เป็น 6.9 แสนล้านบาท หรือ ร้อยละ 2.5 ของจีดีพี ดังนั้น สธ.จึงร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย ตั้งแต่ในฟาร์มจนถึงผู้บริโภค ต้องไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐาน ส่วนเรื่องการพิจารณาแบน 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อยู่ในกระบวนการพิจารณา เป็นคนละเรื่องกับเรื่องนี้

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจผักผลไม้สดที่โรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี 219 แห่ง ทั่วประเทศ รวม 715 ตัว อย่าง พบผ่านมาตรฐาน 612 ตัวอย่างหรือร้อยละ 85.59 ไม่ผ่านมาตรฐาน 103 ตัวอย่างหรือร้อยละ 14.41 ส่วนการสุ่มตรวจในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก โดยแบ่งเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยเช่น สัญลักษณ์คิว (Q) หรือออแกนิก จำนวน 1,261 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 13.6 ส่วนสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองตรวจ 56 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 28.2

น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังซื้อผัก ผลไม้ตามตลาดค้าส่งและตลาดสดจำนวนมาก ซึ่งจากการสุ่มตรวจตลาด 128 แห่ง ใน 26 จังหวัด รวม 481 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านมาตรฐานร้อยละ 64.9  ไม่ผ่านมาตฐานร้อยละ 35.1 ซึ่งจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเข้าไปสนับสนุนการตั้งจุดตรวจสอบในพื้นที่มากขึ้น ส่วนผลตรวจผักผลไม้ที่ใช้โครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ซึ่งนำร่อง 18 โรง ใน 12 จังหวัด รวม 162 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 77.8 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 22.2

Advertisement

ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวว่า ผัก ผลไม้สดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% มี 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก และข้าวโพดหวาน พบสารพิษต่ำมาก ส่วนผักและผลไม้ที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 7 อันดับแรก คือ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ และ ส้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะพบสารกำจัดศัตรูพืช เช่น ไซเปอร์เมทริน คาร์โบฟูราน และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นพืชที่พบแมลงศัตรูพืชได้ง่าย ทั้งนี้ แม้จะพบการตกค้างของสารเคมีสูง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการนำผักผลไม้ทั้ง 7 ชนิดมาประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยตามมาตรฐานโคเด็กซ์ พบว่า ที่ไม่ปลอดภัยจริงๆ คือส้ม ซึ่งจาก 105 ตัวอย่าง พบไม่ปลอดภัย 4.8% อย่างไรก็ตาม การตรวจสารตกค้างเหล่านี้ตรวจที่ความเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่ได้ล้างทำความสะอาดเลย ซึ่งในความเป็นจริงการรับประทานจะต้องมีการล้างทำความสะอาด รวมถึงปรุงสุกด้วย อย่างส้มเราก็ต้องปอกเปลือก

ผู้สื่อข่าวถึงการส่งเสริมการใช้สารทดแทนสารเคมี น.ส.จูอะดี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนเป็นเรื่องของการเตรียมดินให้สมบูรณ์ จะช่วยให้ต้นพืชแข็งแรง ก็จะป้องกันโรคพืชได้ ซึ่งเรามีการส่งเสริมเรื่องนี้ให้เกษตรกร โดยมีการตั้งกลุ่มผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ รวมถึงหากพืชมีอาการป่วยระยะแรกก็สามารถใช้สารเหล่านี้ได้ เหมือนคนเราป่วยช่วงแรกๆ ก็ใช้สมุนไพรจากธรรมชาติช่วยดูแลได้ แต่หากเป็นมากหรือระบาดแล้วก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพราะสามารถฆ่าได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือแพง

Advertisement

เมื่อถามว่า หากไม่แบน 3 สารเคมีจะกระทบกับเรื่องครัวไทยสู่ครัวโลกหรือไม่ เพราะหลายประเทศแบนสารเหล่านี้แล้ว  น.ส.จูอะดี กล่าวว่า เรื่อง 3 สารเคมี อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เป็นคนละเรื่องกับครัวไทยไปครัวโลก ซึ่งขณะนี้ก็ขับเคลื่อนอยู่ โดยเกษตรกรที่ส่งออกต้องเข้าระบบ GAP เพื่อให้มีมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่ซื้อ ส่วนการบริโภคภายในประเทศ การจะเข้า GAP ต้องเพิ่มต้นทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการ จึงเป็นเรื่องของการส่งเสริมมากกว่า ก็มีการแนะนำให้ใช้สารทดแทนอยู่

เมื่อถามว่า ในอนาคตจะหาสารทดแทนโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเลยได้หรือไม่ นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. … จะเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี โดยใช้สารอินทรีย์ หรือสารสกัดชีวภัณฑ์ทดแทน แต่หากต้องการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะและมีคุณภาพดี ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีบางชนิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image