‘หมอธีระวัฒน์’ เปิดข้อมูลผักผลไม้ 60% ล้างไม่ออก ด้านปลัดสธ.แจงลดปัญหา ดีกว่าไม่ทำ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha” ว่า สิ่งที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้บอกประชาชนกรณีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ 1.ไม่บอกว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก 2.ไม่บอกว่าห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด เพราะความครอบคลุมในการวิเคราะห์จะให้ผลเปอร์เซ็นต์การตกค้างแตกต่างกัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่ส่วนใหญ่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น ส่วนห้องปฏิบัติการที่ไทยแพนใช้ตรวจสอบสารได้มากกว่า 400 ชนิด แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 45%

“สิ่งที่หน่วยงานราชการแถลงต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้จึงเต็มไปด้วยมายาคติ เมื่อใดก็ตามที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ผักผลไม้และอาหารนั้นก็เป็นอาหารพิษ ต้องเรียกร้องให้หน่วยงานราชการแถลงข้อมูลทั้งหมดในข้อ 1 ถึงข้อ 4 ต่อประชาชน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับก่อนว่า ในสังคมจริงก็ต้องเจอสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ซึ่ง สธ.ก็ไม่ได้อยากให้มี หรือเป็นคนทำให้เกิด แต่เมื่อออกไปสำรวจก็ต้องออกมาเปิดเผย และบอกแนะนำว่าวิธีไหนที่จะลดปัญหาได้บ้าง ซึ่งการที่บอกว่าให้ล้างผักผลไม้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสารเคมีตกค้างลงไปได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าการล้างจะทำให้สะอาดหรือคลีนไปทั้งหมด 100% แต่ที่สื่อสารออกไปเช่นกัน เพราะว่าดีกว่าไม่บอกหรือไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยก็เพื่อให้ประชาชนถูกสารเคมีน้อยลง และเรื่องนี้ต้องสื่อสารบ่อยๆ เพื่อให้คนตื่นตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดความร่วมมือกันเปลี่ยน โดยการลดการใช้สารเคมี และหันมาใช้สารจากธรรมชาติมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

 

Advertisement

นพ.สุขุมกล่าวอีกว่า สำหรับการเลิกใช้สารเคมีนั้น โดยเฉพาะกรณีการแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สธ.ยืนยันตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะต้องแบน เพียงแต่อำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ สธ.เพียงอย่างเดียว ส่วนกรณีการตรวจสารพิษได้น้อยนั้น ยืนยันว่า แนวโน้มการตรวจสารเคมีและสารพิษของประเทศไทยดีขึ้น เนื่องจากอดีตเราตรวจก็จะรู้ว่าปัญหาสารพิษกลุ่มไหนที่ไม่ดีก็จะระดมลงไปตรวจ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะมีสารพิษใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แต่ขณะนี้ประชาชนก็ตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น จึงต้องสื่อสารให้มาก และสร้างพันธมิตรร่วมกันในการป้องกันศัตรูที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image