ชี้ร่างพ.ร.บ.จัดเก็บภาษีบุหรี่ เข้าบัตรทอง เป็นความร่วมมือก.คลัง-สธ. ยังไม่เก็บเหล้ามีเหตุผล!

มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่หนุนใช้ภาษีบาปเข้าบัตรทอง ด้านแวดวงสาธารณสุขลั่นร่างกม.ผ่านไม่ได้ หากก.คลังไม่ร่วมมือ เหตุมีช่องขึ้นภาษี ย้ำไม่เลือกปฏิบัติ

จากกรณีที่กระทรวงการคลัง เตรียมขึ้นภาษีบุหรี่หรือภาษีบาปในอัตรา 2 บาทต่อซอง และจะนำเงินจากการเก็บภาษีดังกล่าวที่ได้ประมาณ 4,000 ล้านบาทไปใช้ในงบหลักประกันสุขภาพ หรืองบบัตรทอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มาระยะหนึ่งแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.ประกิต วาทีสาทกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีมีการยกร่างพ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ…ที่จะมีการขึ้นภาษีบุหรี่ซองละ 2 บาท ว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการที่ช่วยลดจำนวนนักสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคนจน คนมีรายได้น้อย ซึ่งจากข้อมูลหากขึ้นภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์จะทำให้นักสูบในวัยผู้ใหญ่ลดจำนวนมวนที่สูบลงได้ 4 เปอร์เซ็นต์ เด็กลดจำนวนมวนที่สูบลง 8-10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลกมีการขึ้นภาษีบุหรี่ทุกปี เช่น ประเทศออสเตรเลีย บุหรี่จะมีราคาสูงถึงซองละกว่า 30ดอลลาร์ นอกจากนี้บุหรี่ยังเป็นสินค้าที่ต้องเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 70 ของราคาที่ขาย ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกันว่าจะขึ้นราคาบุหรี่ในอัตรา 2 บาทต่อซองถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม

นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านไม่ให้ขึ้นภาษีโดยระบุว่าจะเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะลดจำนวนคนสูบลงก็ต้องมีผลกระทบ ถ้าไม่ปรับราคาขายจำนวนคนสูบก็ไม่ลด แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น กรณีเศรษฐกิจยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ แล้วกรณีที่เป็นผลกระทบกับสุขภาพนั้นมีทางเลือกหรือเปล่า ซึ่งต้องบอกว่าสุขภาพของคนเวลาเสียแล้วซ่อมได้ไหม ซ่อมแล้วเหมือนเดิมหรือไม่ และถ้าบุหรี่มีราคาแพงขึ้นคนไม่สูบแง่เศรษฐานะของคนนั้นก็ดีขึ้น สุขภาพก็ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกประเมินว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจากบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 1 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 5 หมื่นคน แต่ก่อนจะเสียชีวิตต้องนอนป่วยหนักอยู่กว่า 3 ปี เป็นภาระทั้งของผู้ป่วย ระบบสุขภาพและฐานะของครอบครัวเขาเอง

Advertisement

เมื่อถามว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่เพราะเพิ่งมีการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เหมาะสมแล้ว เพราะในหลายประเทศมีการเขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าต้องมีการเพิ่มภาษีบุหรี่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และอย่างที่ออสเตรเลียมีการขึ้นภาษีบุหรี่ 6 เดือนครั้ง ส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันมีการขึ้นภาษีไป 12 ครั้ง เฉลี่ยขึ้นภาษี 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงบางครั้งเว้นไป 3,4 ปี ก็ค่อยมีการขึ้นภาษีก็มี ดังนั้นคิดว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรที่จะทำ

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขฯ เพื่อเก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรตเพิ่มซองละ 2 บาท มาให้กองทุนบัตรทอง เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะไม่ต่างจาก พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจัดเก็บภาษีการค้าปลีกยาสูบมวนละ 10 สตางค์ ซึ่งคิดว่าร่างกฎหมายน่าจะเขียนคล้ายกันไม่ต่างกันมาก และการนำเอาเงินมาช่วยในเรื่องของกองทุนสุขภาพก็มองว่าเกิดประโยชน์ เพราะอย่างไรในช่วงเดือนกันยายน 2562 บุหรี่ทุกยี่ห้อราคาขายปลีกจะต้องเกินกว่า 60 บาทแน่นอน เนื่องจากอัตราภาษีตามมูลค่าจะเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาต้องขยับราคาอยู่แล้ว

“ช่วงกันยายน 2562 บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องขึ้นราคาทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้น การเก็บเพิ่มอีกซองละ 2 บาท จึงไม่ได้แตกต่างเลย หากสามารถเก็บแล้วเข้ากองทุนสุขภาพในวันนี้เลย ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เชื่อว่าทางควบคุมยาสูบคงเห็นด้วยแน่นอน แต่สิ่งที่คิดว่าควรเพิ่ม คือ อาจจะต้องมีการเก็บภาษียาเส้นเพิ่มด้วยหรือไม่” แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบจากผู้ปฏิบัติงาน จริงๆ แล้ว การจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขฯ จะสำเร็จไม่ได้ หากกระทรวงการคลังไม่อนุมัติ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง และก่อนจะร่างกฎหมายก็มีการส่งเรื่องให้พิจารณาว่า ทำได้หรือไม่ การที่ทำในส่วนของการจัดเก็บภาษีบุหรี่ เพราะยังมีกรอบที่ทำได้ และไม่ซับซ้อนเท่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ใช่ว่าเลือกปฏิบัติ เพราะหากตรงนี้สำเร็จก็จะสามารถทำต่อในตัวอื่นๆได้ แต่ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่า การทำตรงนี้เป็นเรื่องดีในแง่ป้องกันสุขภาพของประชาชน เพราะการขึ้นภาษี เมื่อบุหรี่แพงขึ้นก็ลดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ส่วนงบที่เข้าไปบัตรทอง ก็ไม่ใช่จะมากระจุกที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะงบบัตรทอง ต้องยอมรับว่าแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอ และเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ และประสิทธิภาพต่างๆ งบตรงนี้จะช่วยได้และกระจายให้กับโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทั้งมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ก็จะได้งบส่วนนี้ ขณะที่โรงพยาบาลก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว มาตรา 4 ระบุชัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ เพื่อปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฯ และมาตรา 5 ให้สำนักงานมีอำนาจจัดเก็บเงินสมทบจากยาสูบในอัตรามวนละสิบสตางค์ ให้ผู้บริโภคเป็นผู้มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ และให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาสูบหรือผู้นำเข้ายาสูบ เป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินสมทบ ส่วนมาตรา 6 ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบตามมาตรา 5 เป็นต้น

ทางด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์และต่อต้านการสูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเก็บเงินจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท นำเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งคาดว่าจะได้ปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ว่า เพิ่งทราบจากข่าว และเห็นด้วยในหลักการเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้รัฐบาลเริ่มแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาประชาชนไม่ไหว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชน และประชาชนได้ประโยชน์ ที่สำคัญแนวทางนี้ไม่ทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานยาสูบถึงกับขาดทุนแน่นอน

“โดยหลักการ สมมติว่าบุหรี่ราคา 100 บาท จะดึงเงินเพียง 2 บาท ไปเข้ากองทุนบัตรทองเท่านั้น อย่าไปคิดว่าโรงงานยาสูบ หรือบริษัทบุหรี่จะเจ๊ง และขอให้เดินหน้าต่อไปเพราะนี่คือการทำเพื่อส่วนรวม ที่ผ่านมา เรารู้ว่าเงินที่จะดูแลรักษาประชาชนไม่มีทางพอ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ถ้ามีมาเพิ่มจะทำให้ระบบบริการต่างๆ ดีขึ้น” นพ.หทัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวคิดว่าจะดึงเฉพาะเงินจากบุหรี่ เหตุใดไม่ดึงเงินจากสินค้าบาปอื่นๆ มาช่วยด้วย นพ.หทัย กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า หลักการนี้ถือเป็นวิธีแก้ไขสถานการณ์ที่ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image