โอด!เปิดบ้านบุคลากรสาธารณสุข ‘รพ.สต.’ เก่าต้องรื้อถอน เกินซ่อมแซม

ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลปัญหาที่พักอาศัยของบุคลากรสาธารณสุขที่ทรุดโทรม และยังขาดแคลนอีกกว่า 7 พันแห่ง จน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศเดินหน้าสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุข โดยมอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 12 เขตสุขภาพ จัดทำข้อมูลแต่ละพื้นที่ โรงพยาบาลทุกระดับที่มีปัญหาที่พักอาศัยของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะบุคลากรที่ต้องอยู่เวรดึกต้องมีสวัสดิการ มีความปลอดภัย โดยให้ทำเรื่องของบฯ เฉลี่ยเขตสุขภาพละ 300-500 ล้านบาท และให้ส่งเรื่องเข้ามาภายในวันที่ 5 ตุลาคมนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะที่ผ่านมาบุคลากรที่ประจำในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมกว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศ มีปัญหาในเรื่องบ้านพัก หลายแห่งไม่มีรั้ว ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งๆที่เป็นสวัสดิการพื้นฐาน ยิ่งใน รพ.สต.ที่ห่างไกล อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ยิ่งลำบาก ที่ผ่านมาของบประมาณก็ไม่ค่อยถูกจัดสรรลงมาที่ รพ.สต.เท่าไหร่ จะไปที่รพ.ขนาดใหญ่มากกว่า ส่วนทึ่ไปรพ.สต. ก็นำไปใช้ในเรื่องการประกวด รพ.สต.ติดดาว

บ้านพักบุคลากร รพ.สต. ในปทุมธานี รอรื้อถอน

“สิ่งที่กังวลคือ เมื่อได้รับงบประมาณมา กลัวจะถูกหั่นกลางทาง สุดท้ายรพ.สต.ก็แทบไม่ได้อะไร ทั้งที่บ้านพักในรพ.สต.ใช้งบแค่แสนกว่าบาทก็อยู่ได้ ตรงนี้อยากให้ทางกระทรวงสำรวจและตรวจสอบ ทางที่ดีควรสำรวจไปเลยว่า รพ.สต.มีกี่แห่งที่ต้องมีบ้านพัก และกี่แห่งบ้านพักสามารถซ่อมบำรุงได้ เพราะรพ.สต.มีเกือบหมื่นแห่ง ไม่ใช่น้อยๆ เรากลัวแค่ว่าเมื่องบลงมาจะไปที่ รพ.ขนาดใหญ่ สร้างแฟลตที่อยู่อาศัยเป็นร้อยล้านบาท ซึ่งสุดท้าย รพ.สต.ก็จะไม่ได้รับงบประมาณอยู่ดี ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้แบ่งเป็นเกรด A เกรด B และเกรด C โดยเกรด C ก็แบ่งระดับว่า แห่งไหนซ่อมแซมได้ก็ทำไปก่อน ส่วนแห่งไหนต้องจัดซื้อก็ทำไป” นายริซกี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกว่าจะได้รับงบประมาณอาจใช้เวลา จะมีวิธีไหนในการแก้ปัญหา นายริซกี กล่าวว่า อีกแนวทางหนึ่งคือ น่าจะมีรถรับส่งให้กับบุคลากรที่รพ.สต. เพราะหลายคนเป็นคนต่างถิ่น บางคนก็อยู่คนละอำเภอ ที่ผ่านมาก็ต้องเดินทางไปกลับเอง นั่งรถสองแถว รถมอเตอร์ไซด์ ไม่มีรถรพ.รับส่ง ซึ่งเมื่อเป็นคนต่างถิ่น และต้องมาพักบ้านพักที่ทรุดโทรม หรือไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ รวมทั้งหากในรพ.สต.นั้นๆ ชุมชนไม่เข้มแข็ง ก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา มีการบุกเข้าไปหวังปลุกปล้ำ บ้างก็ขโมยของ ซึ่งเจอกันตลอด ตรงนี้ควรมีมาตรการระยะสั้นมาช่วยเหลือด้วย เพราะถ้ารองบประมาณน่าจะค่อนข้างลำบาก

บ้านพักบุคลากร รพ.สต.ในกาฬสินธุ์ รอปรับปรุง

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) และรองผู้อำนวยการรพ.ราชบุรี กล่าวว่า ปัญหาที่พักบุคลากรสาธารณสุข เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมางบประมาณจะมุ่งเน้นไปที่การบริการผู้ป่วย ซึ่งเมื่อทางกระทรวงฯ มีนโยบายในการดูแลสวัสดิการตรงนี้ ถือเป็นเรื่องดีมาก ปัญหาคือ กว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มเติมอาจต้องใช้เวลา ทั้งการของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง อย่างต่ำกว่าน่าจะประมาณ 3 ปี ระหว่างนี้ก็ต้องมีการบริหารจัดการ แต่ที่ดีที่สุดคือ อยากให้มีงบเช่นนี้ทุกปี เนื่องจากแม้จะมีงบในเรื่องที่พักบุคลากรทางการแพทย์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกแห่ง ต้องพิจารณาตามความจำเป็น ซึ่งในส่วนของรพ.ราชบุรี จะเป็นแฟลตเป็นที่พักของบุคลากรทางการแพทย์ มีประมาณกว่า 100 ห้อง ซึ่งก็ยังไม่พอ หากมีเพิ่มอีก 100 ห้องคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหา และทำให้บุคลากรสาธารณสุขทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น
“ทุกวันนี้ ในรพ.ราชบุรีมีแพทย์ประมาณ 200 คน เป็นพยาบาลเป็นพันคน ซึ่งที่ลำบากมากคือ พยาบาล เพราะควงเวรนาน และเป็นผู้หญิงการจะให้เดินทางไปกับบ้านของตัวเองค่อนข้างลำบาก ซึ่งที่ผ่านมารพ.ราชบุรี หลายครั้งต้องจัดสรรงบเพื่อเช่าที่พักให้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ตลอด เพราะรพ.ก็มีปัญหาการเงินอยู่ การแก้ปัญหาก็จะมีห้องพักรวม เป็นแบบห้องให้นอนพักระหว่างเข้าเวร ซึ่งก็ต้องสลับกัน ไม่เพียงพออยู่ดี การที่มีนโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และจะสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรเป็นอย่างดี” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนรพ.ราชบุรี หากต้องสร้างแฟลตที่พักบุคลากรทางการแพทย์ ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า น่าจะประมาณ 100 ล้านบาท
เมื่อถามว่า งบจริงๆ ที่ทางสธ.ให้จะได้เพียงเขตสุขภาพละ 300-500 ล้านบาท จะมาถึงรพ.ราชบุรีหรือไม่ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า รพ.ราชบุรีก็ถือว่ามีปัญหาตรงนี้เช่นกัน ประเด็นนี้ก็คงอยู่ที่การพิจารณาว่าจะจัดสรรงบอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image