“หมออนามัย” ยื่นหนังสือ “ปิยะสกล” ขอเหลียวแลจนท.รพ.สต. เหตุภาระหนัก ไร้คนไร้งบไร้บ้านพัก

เมื่อวันที่ 5  ตุลาคม  ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหมออนามัยกว่า 100 คน นำโดย นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผอ.รพ.สต.(แห่งประเทศไทย) ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้สนับสนุนกำลังคน งบประมาณ และในการพัฒนารพ.สต.ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ รองรับการดูแสสุขภาพประชาชนเชิงรุก โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวสั้นๆ ว่า กระทรวงรับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด และพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องหารือพิจารณากันในรายละเอียดต่อไป เพราะทราบดีกว่ารพ.สต.เป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รพ.สต.เป็นด่านหน้าที่ให้การดูแลประชาชน ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ 9 พันกว่าแห่ง ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศพัฒนารพ.สต. ตั้งเกณฑ์ประเมินคุณภาพเพื่อมอบเป็นรพ.สต.ติดดาว ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมามาไม่กี่ร้อยแห่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นรพ.ที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่แบบทุรกันดาร คนทำงานไม่มี งบไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้ประกาศเป็นวาระของการปฏิรูปรพ.สต. เพราะหากประกาศเป็นแค่นโยบาย ก็จะไม่เกิดการพัฒนา และย่ำอยู่ที่เดิม โดยควรสนับสนุนให้มีกำลังคนประมาณ 7 คนต่อแห่ง โดยเฉพาะตำแหน่งธุรการ การเงิน เพื่อแยกส่วนการทำงานออกจากการบริหาร และงานดูแลสุขภาพประชาชน จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระ และความเสี่ยง และพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะปัจจุบันตำแหน่งผอ.รพ.สต. ซึ่งเป็นคนที่จบนักวิชาการสาธารณสุขอยู่แค่ระดับ ซี 6 ขณะที่พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ที่ระดับซี 7 ถือว่าไม่ถูกหลักการบริหาร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะไปยื่นที่ก.พ.อีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

“อยากให้สนับสนุนสิ่งที่จะทำให้เราทำงานได้ด้วย ไม่ใช่สั่งงาน สั่งนโยบายอย่างเดียวแต่ไม่มีการสนับสนุน รวมถึงเรื่องขวัญกำลังก็คือสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เรื่องบ้านพักซึ่งสร้างมาหลายสิบปี ทรุดโทรมมาก แม้ว่าส่วนตัวผมจะเห็นว่าสำคัญเป็นอันดับรองลงมาจากการปรับปรุงอาคารรพ.สต.ก็ตาม ซึ่งวันนี้มีจำนวนมากที่ทรุดโทรม ฝ้าเพดานพัง น้ำรั่ว ซึ่งต้องปรับแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า จริงๆโครงสร้างสถานีอนามัยก็สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้มีน้ำรั่วซึม ฝ้าเพดานตก ควรซ่อมแซม เพื่อป้องกันโครงสร้างอื่นๆ ด้วย บ้านพักพนักงานเป็นอันดับสอง แต่ก็ต้องจัดสวัสดิการให้ เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเดียวแล้วอยู่รวมกัน โดยเฉพาะคนต่างถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าบ้านพักแต่ละหลังก็อายุ 20-30 ปี การจะทุ่มเงินมาสร้างบ้านพักก็อาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่ สิ่งที่จะทำให้ต่อเนื่อง ยั่งยืน มั่นคง กับคนทำงาน คือ การให้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน แล้วไปทำเช่าซื้อ ไม่ต้องไปทุ่มกับงบซ่อมบำรุง หรือสร้างใหม่ แต่เอาเงินส่วนนั้นไปให้ให้สิทธิเขาเบิกค่าเช่าบ้าน แล้วเขาทำการเช่าซื้อเมื่อเกษียณก็จะได้มีบ้านเป็นหลัง
 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image