‘กินเจ’ อย่างไร ปลอดสารพิษ

พืชผักและผลไม้ทุกชนิด ถือเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ยิ่งในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ยิ่งมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เพราะถือเป็นตัวหลักที่ใช้ในเมนูอาหารเจ

แต่น่าตกใจ! กับข้อความในเฟซบุ๊กของ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ระบุถึงสิ่งที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้บอกประชาชนกรณีการสุ่มตรวจพืชผักและผลไม้ ทั้ง 1.ไม่ได้บอกว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 60 ล้างไม่ออก 2.ไม่ได้บอกว่าห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด และ 3.ห้องปฏิบัติการที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทย-แพน ใช้ตรวจสอบสารสารเคมี สามารถตรวจได้มากกว่า 400 ชนิด แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยร้อยละ 45 เท่านั้น และที่หน่วยงานราชการแถลงต่อประชาชนในเรื่องความปลอดภัยของพืชผักและผลไม้ จึงเต็มไปด้วย “มายาคติ” เมื่อใดก็ตาม ที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน พืชผักผลไม้และอาหารนั้น ก็เป็น “อาหารพิษ”

ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากการตรวจการตกค้างของสารเคมีอยู่ในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่ามีผักสด 10 ชนิด ที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี หากผู้บริโภคได้รับยาฆ่าแมลงตกค้างในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและเสียชีวิต แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมในร่างกาย จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ ยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมกินแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้

Advertisement

กรมอนามัยจึงแนะนำว่า ก่อนกินหรือนำมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้ล้างด้วยน้ำไหล แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้

แต่จากปากคำของ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่าทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าในสังคมก็พบเจอสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่อยากให้มี หรือเป็นคนทำให้เกิด แต่เมื่อมีการสำรวจก็ต้องเปิดเผย และแนะนำวิธีลดปัญหาโดยให้ล้างพืชผัก ผลไม้ แต่

การล้างช่วยลดสารเคมีตกค้างลงได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สะอาดหรือคลีน 100% แต่ที่สื่อสารออกไปเช่นกัน เพราะว่าดีกว่าไม่บอกหรือไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยก็เพื่อให้ประชาชนสัมผัสสารเคมีน้อยลง และเรื่องนี้ต้องสื่อสารบ่อยๆ เพื่อให้สังคมตื่นตัว

Advertisement

ยิ่งตอกย้ำ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย” เป็นเพียงมายาคติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสอาหารพิษ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้แม้บอกว่าเครื่องตรวจหาสารเคมีจะตรวจได้มากขึ้น แต่ทั้งหมดก็ทำได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญยังตรวจหาสารพาราควอต และสารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย และกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกใช้ในแปลงเกษตรไม่ได้

“ปัจจุบันมีสารพิษที่เสี่ยงปนเปื้อนในพืชผัก ผลไม้ 280 ชนิด แต่ที่ผ่านมา ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจได้เพียง 28 ชนิด และล่าสุดมีการพยายามพัฒนาระบบการตรวจให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 104 ชนิดเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าสารแต่ละชนิดนั้น การซักล้างไม่เหมือนกัน บางชนิดล้างน้ำเปล่าได้ บางชนิดอาจต้องล้างด้วยด่างทับทิม บางชนิดล้างด้วยน้ำเกลือ ฯลฯ แต่โดยสรุปทั้งหมดล้างได้เพียงร้อยละ 30-60 เท่านั้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ขณะที่ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทย-แพน กล่าวว่า มันแทบจะไม่มีวิธีใดแก้ปัญหาใด มีทางเดียวที่พอจะทำได้คือ ต้องกินแบบไม่ซ้ำซาก และเลือกกิน อีกทั้งผู้บริโภคต้อง “ลดการพึ่งพา” จากภายนอก ต้องปรับเปลี่ยนการบริโภคกลุ่มพืชผักที่กิน เช่น หันมาเลือกซื้อหาผัก ผลไม้ จากร้านที่มั่นใจว่าไม่ใช้สารเคมี ปลูกกินเองบ้างบางส่วน เป็นต้น

“คนเราเวลาเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง มักทำอะไรก็ได้ แต่ทำไมไม่เริ่มทำตั้งแต่ก่อนจะป่วยเป็นโรคด้วยการหันมาใส่ใจกับเรื่องอาหารการกินอย่างจริงจัง” น.ส.ปรกชลกล่าว

ในเมื่อเราหวังพึ่งพารัฐไม่ได้ ก็คงถึงเวลาแล้วต้องลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image