ผู้ใช้แรงงานเดินขบวนจี้รัฐยุติ ‘จ้างงานไม่เป็นธรรม’

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) กว่า 1,000 คน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่าสากล 2561 World Day for Decent Work 2018” จากนั้นเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นรายชื่อมากกว่า 10,000 รายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ายกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ โดยมีนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือ

 

นายกิติพงษ์ กล่าวสั้นๆ ว่าจะนำเรื่องนี้ไปสรุปรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับทราบ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ทั้งนี้ตามกระบวนการอาจจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว

Advertisement

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมมีอยู่จำนวนมาก แม้กระทั่งหน่วยราชการ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่มีการจ้างข้าราชการเพิ่มแล้ว แปลงเป็นพนักงานลูกจ้างสัญญารายปี รายวัน ซึ่งไม่เป็นธรรมจึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ และเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ ให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด โดยจะจับตาเรื่องนี้ใกล้ชิด เพราะมีรายงานว่ามีผู้ประกอบการพยายามขัดขวาง

ด้านนายชาลี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การจ้างที่ไม่มีความมั่นคง จ้างเหมาค่าจ้าง จ้างซับคอนแทร็กมีมากขึ้นในทุกสถานประกอบการ สัดส่วนมากกว่าพนักงานประจำ 60 ต่อ 40 คน ซึ่งคนทำงานเหล่านี้ไร้หลักประกันความมั่นคง ขาดสวัสดิการที่ควรได้รับ เรื่องนี้เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานมา 3 ปีแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไข ขนาด สปส.ก็ยังมีปัญหาโดยเปลี่ยนการจ้างงานระยะยาวจนเกษียณ มาเป็นการต่ออายุทุก 4 ปี ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ ไม่เป็นธรรม

Advertisement

“จะต่อสู้จนถึงที่สุด ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการยกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ และขับเคลื่อนการดูแลความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพราะปัจจุบันเรื่องนี้ถูกละเลยมาก จนเห็นความเจ็บป่วยจากการทำงานมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการจ่ายเงินทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น” นายชาลี กล่าว

ด้านนายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สลท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ไปเรียกร้องที่ สธ. เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการจ้างงาน และอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรมแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ลงนามรับเรื่องแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงจะไปทวงถามในเร็วๆนี้

ขณะที่ น.ส.อำไพ วิวัฒน์สถาปัตย์ ประธานสหภาพบริษัทวิงสแปน กล่าวว่า บริษัทมีลูกจ้างประมาณ 7,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในรัฐวิสาหกิจการบินแห่งหนึ่ง อาทิ ขายตั๋ว เช็คอิน โหลดสัมภาระ งานครัว เป็นต้น แต่ได้ค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย 325 บาทต่อวัน สวัสดิการพื้นฐาน เช่น โบนัส การขึ้นเงินเดือนจะได้รับก็ต่อเมื่อมีการเรียกร้อง ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากพนักงานประจำ

นายธวัชชัย บุญวาสน์ พนักงานโหลดสัมภาระของสายการบินแห่งหนึ่ง กล่าวว่า พนักงานซับคอนแทร็กมีการทำสัญญาใหม่ทุก 2-3 ปี หากหมดสัญญาจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาทำสัญญาต่อ ขณะที่คนทำงานยังเป็นคนเดิม ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่มีการนับอายุงานต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image