‘ถนนพลาสติก’ ต้นแบบการรีไซเคิลขยะ

ถนนพลาสติกรีไซเคิล นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง เป็นตัวอย่างของการนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่าน 3 หลักการ ได้แก่ ผลิต-ใช้-วนกลับ (MAKE-USE-RETURN)

การทำถนนพลาสติกรีไซเคิล มีส่วนผสมของ ยางมะตอยŽ กับ พลาสติกŽ ที่ใช้แล้ว อาทิ ถุงพลาสติก ถุงใส่อาหาร ขวดน้ำ หรือฝาขวด ซึ่งได้มาจากการคัดแยกขยะภายในเอสซีจีและครัวเรือนในชุมชน จ.ระยอง นำมาผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดที่เล็กลง และนำมาผสมกับน้ำยางมะตอยเพื่อใช้ในการปูถนน ทำให้ถนนมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและช่วยต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น

ถนนพลาสติกรีไซเคิลต้นแบบเส้นนี้ มีระยะรวม 220 กิโลเมตร มีขนาดความกว้างของถนน 3 เมตร ความหนา 6 เซนติเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการนำพลาสติกใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นความร่วมมือของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในระยะนำร่องถนนพลาสติกรีไซเคิลนี้ จะนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นทางสัญจรภายในนิคมอุตสาหกรรมฯ เพื่อเป็นการนำเสนอแนวคิดให้แก่องค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจในการนำขยะเหลือใช้มาสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดในการสร้างถนนเส้นใหม่ในอนาคต

Advertisement

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี บอกว่า การบริหารจัดการกับขยะเหลือใช้ของเอสซีจีเพื่อนำมาสร้างเป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลนี้ เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะภายในองค์กร รณรงค์ให้พนักงานทำการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการนำขยะเหลือใช้เหล่านี้ไปแปรรูปเป็นของใช้อื่นและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยจัดถังขยะให้เป็นสี แบ่งเป็นประเภทของขยะต่างๆ ได้แก่ 1.ถังขยะสีน้ำเงิน สำหรับทิ้งขยะประเภทกระดาษ 2.ถังขยะสีเขียว สำหรับทิ้งขยะประเภทพลาสติกทั่วไป 3.ถังขยะสีขาว สำหรับทิ้งขยะประเภทขวดพลาสติกและน้ำดื่มใส 4.ถังขยะสีเหลือง สำหรับทิ้งขยะประเภทภาชนะโลหะและแก้ว 5.ถังขยะสีเทา สำหรับทิ้งขยะประเภทเศษอาหาร กล่องเครื่องดื่ม และขยะเปียก 6.ถังขยะสีแดง สำหรับทิ้งขยะประเภทขยะอันตราย

Advertisement

นายชลณัฐกล่าวว่า เมื่อได้ขยะพลาสติกแล้วก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทำถนนพลาสติกรีไซเคิล เริ่มจากคัดแยกขยะพลาสติกจากการรวบรวมจากขยะภายในเอสซีจี และครัวเรือนชุมชน นำพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาผ่านกระบวนการบดย่อยให้มีขนาดเล็กเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยการนำพลาสติกที่บดแล้วมาผสมกับยางมะตอยด้วยอัตราส่วนร้อยละ 2-8 ของยางมะตอย เมื่อได้ยางมะตอยที่มีส่วนผสมของพลาสติกบดแล้วจึงนำมาปูถนนด้วยวิธีปกติทั่วไป




การนำเอาพลาสติกที่ได้จากการบดย่อยมาผสม สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำยางมะตอยเพียงอย่างเดียวมาปูถนนได้ถึง 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และมีความแข็งแรง ทนทานต่อการกัดเซาะของน้ำได้มากกว่าถึงร้อยละ 20-30 ยืนยันได้จากผลการทดสอบของภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยการทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมนั้นมีคุณค่าและประโยชน์อย่างสูงสุดŽ นายชลณัฐกล่าวและว่า การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่ออนาคตโลก และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาทรัพยากรใหม่ด้วย

ทั้งนี้ ถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนผสมของพลาสติกในยางมะตอย มีคุณสมบัติและมีประโยชน์ที่มากกว่าการใช้ยางมะตอยในการปูถนนแบบเดิม คือ นอกจากจะเพิ่มความแข็งแรงของถนน ลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอยในการสร้างถนน ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก เพิ่มคุณค่าให้กับพลาสติกที่ย่อยสลายยากเหล่านี้ให้มีประโยชน์ด้วย

ในเร็วๆ นี้ จะมีถนนพลาสติกรีไซเคิลเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image