แพทย์จวกกลุ่มนิยม ‘เปิบสัตว์ป่า’ เป็นพวกมีปมในใจ ชี้เสี่ยงเชื้อโรค ทำลายสมดุลธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี จับกุมนายธวัชชัย สมีรักษ์ หรือปลัดแมน พร้อมพวก และของกลางทั้งอาวุธปืน อุปกรณ์ทำครัว และซากหมีขอ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการล่าเพื่อนำไปประกอบอาหาร ว่า ของป่าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืช เห็ด หรือสัตว์ป่า ผู้บริโภคไม่ควรนำมากิน เพราะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคและพิษทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ

พญ.อัมพร กล่าวว่า หากมองในด้านความปลอดภัย การกินอาหารแปลกๆ หรืออาหารที่มาจากป่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะอาจเสี่ยงได้รับพิษและเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“เราไม่ได้อยู่ในช่วงยุคหินที่ไม่มีทางเลือกในการกินอาหาร ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีทางเลือกมากมาย เนื้อสัตว์อาหารที่กินได้ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากโรงเลี้ยงถึงจะปลอดภัย ไม่ใช่จับกินไปเรื่อยเปื่อย ที่สำคัญสัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์ที่เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ถ้าไปจับกินก็เท่ากับรังแกสัตว์ ที่สำคัญถือเป็นการรังแกตัวเองด้วย” พญ.อัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พวกนิยมกินอาหารป่ามักบอกว่ากินเป็นยา หรือยาโด๊ป พญ.อัมพร กล่าวว่า ในทางการแพทย์และหลักโภชนาการยังไม่งานวิจัยใดออกมารองรับว่า กินเนื้อสัตว์ป่าแล้วจะให้ประสิทธิภาพทางยา หรือรักษาโรคใดๆได้ และหากมีผลทางการรักษาจริง เชื่อว่าคงมีการเพาะเลี้ยงในการทางแพทย์กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีปรากฎ

Advertisement

พญ.อัมพร กล่าวว่า ในความเห็นพวกที่นิยมเปิบพิสดาร หรือกินอาหารป่าเป็นพวกที่มีความเชื่อส่วนตัว และชอบความท้าทาย แต่หากถามว่าถึงขั้นเป็นโรคทางจิตหรือไม่ ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นพวกที่มีปมในใจ เป็นคนไม่มีเหตุผล และไม่มีเมตตา ไม่คำนึงถึงความทุกข์ของผู้ที่ถูกเบียดเบียนโดยไม่จำเป็น และว่า กินสัตว์ป่านอกจากไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมด้วย เพราะการทำลายสิ่งมีชีวิตในป่า คือ การทำลายความสมดุลในธรรมชาติ อาจทำให้สัตว์ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image