แกนนำเยาวชนฯ ร้องแก้ กม.เด็กต่ำกว่า 18 ปี รับรักษาปัญหาสุขภาพจิตได้ แม้ไร้ผู้ปกครองยินยอม

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่อาคารกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แกนนำเยาวชนเลิฟแคร์  และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (กทม.)  เดินทางมายื่นจดหมายถึง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เพื่อเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่อายุไม่ถึง 18 ปี โดยมี นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้รับมอบหนังสือ

นานสหัสวรรษ สิงห์ลี โฆษกสภาเด็กและยาวชน กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาจำนวนมาก ทั้งปัญหาความรุนแรง การท้องไม่พร้อม ยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต แต่การเข้าถึงบริการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตกลับติดขัดด้วยกฎหมาย คือ พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรค 3 ที่กำหนดว่า กรณีผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล  เป็นผู้ให้ความยินยอม แต่จากการทำงานด้านเด็กและเยาวชนพบว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่กล้าบอกหรือพาพ่อแม่ไปด้วย หรือบอกไปแล้วเกิดการตีตรา หาว่าเป็นบ้า เพราะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไม่ถึงบริการ จึงน่าจะมีบริการเปิดรับรองให้เด็กและเยาวชนก่อน ส่วนการตัดสินใจจะไปรับบริการด้วยตนเอง หรืออยากไปกับพ่อแม่ น่าจะให้เด็กและเยาวชน เป็นคนตัดสินใจมากกว่า เหมือนอย่างกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีที่เราสามารถขับเคลื่อนปลดล็อกให้เยาวชนอายุ 18 ปีมีสิทธิเข้าถึงการตรวจรักษาด้วยตนเองได้ เรื่องสุขภาพจิตก็เช่นกัน ควรเป็นสิทธิของวัยรุ่นเองที่จะเข้าถึงการรักษา

นายสหัสวรรษ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องครั้งนี้ มี 3 ข้อ คือ 1.ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขความในมาตรา 21 พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ให้ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิในการตัดสินใจที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความยินยอม เพื่อบรรลุเป้าสูงสุดของกฎหมายที่มุ่งหวังแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย  2. เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก วันที่ 10 ตุลาคม  ขอให้กรมสุขภาพจิตเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วันสุขภาพจิตโลกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ทราบถึงข้อมูลการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาและการรักษา และ 3. ขอให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการทำงานด้านสุขภาพจิตทุกมิติ ให้เด็กและเยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น

 

Advertisement

นพ.สมัย กล่าวว่า กรมฯ จะรับเรื่องนี้ไว้ เพราะเห็นความสำคัญของปัญหาเด็กและเยาวชน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมเป็นเรื่องสากล ไม่ใช่แต่ประเทศไทย ที่กำหนดเช่นนี้เพื่อปกป้องเด็ก เพราะวัยรุ่นบางส่วนไม่รู้ตัวว่าป่วย ต้องให้ผู้ปกครองพามา หรืออย่างเข้ารับการรักษาแล้วเมื่อกลับถึงบ้านก็ต้องให้ผู้ปกครองช่วยดูแลด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเด็กและเยาวชนก็ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพยายามดำเนินการก็คือ ทำให้พ่อแม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพจิตของลูก

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตพบเจอบ่อยครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บางคน ประเมินสุขภาพจิตตัวเองพบว่าเข้าข่ายเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ก็มาพบจิตแพทย์ อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะกำหนดว่าการบำบัดรักษาจะต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม แต่ในเรื่องของการให้คำปรึกษาให้คำแนะนำโดยที่ไม่ได้มีการรักษาหรือจ่ายยาก็สามารถทำได้ ซึ่งจะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น และให้เอกสารและคำแนะนำในการไปพูดคุยกับพ่อแม่ว่า จะพูดคุยอย่างไรในการให้พาเข้ามารับการรักษา แต่หากเป็นกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น ทำร้ายร่างกายตนเอง ทำร้ายร่างกายคนอื่น ตรงนี้สามารถทำการรักษาได้ และจะมีการติดตามต่อเนื่อง

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image