“หมอธีระวัฒน์” จวกยับ! ออกกม.ตีทะเบียนหมาแมว เปิดช่องทิ้งสัตว์เลี้ยงเสี่ยงโรคระบาด!

จากกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์(ฉบับที่..) พ.ศ. โดยที่เป็นประเด็นคือ จะให้เจ้าของสุนัขแมวขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และจ่ายค่าตีทะเบียนรวม 450 บาท เป็นค่าร้องขอขึ้นทะเบียน 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท และค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์อีก 300บาท โดยจะให้ท้องถิ่นไปออกกฎระเบียบในการดำเนินการนั้น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงเรื่องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพิษสุนัขบ้า กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย หากจะทำลักษณะนี้ ณ เวลานี้ เพราะบริบทของประเทศไทยไม่เหมาะสมทำเช่นนั้น เนื่องจากกังวลว่า เมื่อมีการขึ้นทะเบียน แม้จะบอกว่าป้องกันการทิ้งหมา ประเด็นคือ คนที่เลี้ยงเยอะๆ จะยิ่งนำไปทิ้งหรือไม่ เราต้องพิจารณาบริบทตามความเป็นจริงของประเทศไทยด้วย ทางที่ดีตอนนี้ต้องดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีน และทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรสุนัขแมวให้ได้มากที่สุด ต้องทำตรงนี้ให้ได้ดีเสียก่อน และให้มีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะทุกวันนี้ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอเลย

ผมไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะมีคนเอาหมาแมวมาปล่อย ผมไม่เห็นด้วยเพราะยังไม่ถึงเวลา จริงๆ เราอาศัยความร่วมมือจากประชาชนที่มีความการุณสัตว์ เลี้ยงหมาแมว จำนวนมากๆ  อย่างหลายพื้นที่ หลายหมู่บ้าน มีคนเลี้ยงหมาแมวเป็นสิบตัว แต่ปล่อยให้เดินเป็นอิสระได้ เราต้องอาศัยจุดนี้ให้พวกเขาร่วมมือและนำสุนัขแมวที่เลี้ยงมาทำหมัน เพื่อควบคุมประชากร และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากเราออกกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์ ป้องกันการทิ้ง จะยิ่งเกิดการทิ้งสัตว์เลี้ยงมากขึ้น สุดท้าย พวกสัตว์เหล่านี้จะไร้คนดูแล จะอดอยาก และการป้องกันคุมกำเนิดก็จะเข้าไม่ถึง หมาจะดุร้ายมากขึ้น โอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สูงขึ้น และเสี่ยงที่จะกันคน กัดเด็กมากกว่าเดิม แบบนี้จะยิ่งเป็นปัญหา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า การให้ขึ้นทะเบียน 450 บาทต่อตัวนั้น ตนมองว่าจะยิ่งสร้างปัญหา ณ ขณะนี้ ทางที่ดีมาตรการฉีดวัคซีน และทำหมันต้องทำให้ได้ดีก่อน เพราะที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำดีแล้วหรือไม่ มีประสิทธิภาพจริงหรือ คนที่จะออกกฎหมายคิดดีแล้วหรือยัง หรือไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คนออกกฎหมายไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยหรืออย่างไร  หากออกจริงและเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ จะทำแบบเมืองนอกไม่ได้ อย่างบางประเทศใช้วิธีฆ่าหมาแมวไม่มีเจ้าของ และค่อยออกกฎหมายขึ้นทะเบียนควบคุม แต่ประเทศไทย ทำไม่ได้ เราก็ต้องใช้วิธีควบคุมประชากรด้วยการทำหมัน และฉีดวัคซีน โดยอาศัยความร่วมมือกับประชาชน  ไม่ใช่มาออกกฎหมายแบบไม่คิดผลกระทบเช่นนี้  ส่วนเรื่องการฝังชิปสุนัขแมวนั้น ตนมองว่าไม่ต้องทำหรอก ทำมานานก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข ระบุสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) มีผู้เสียชีวิต 7, 5, 5, 14 และ 11 ราย ตามลำดับ ส่วนในปี 2561 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -10 กันยายน 2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 16 ราย จาก 14 จังหวัด (จากบุรีรัมย์และระยอง จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย) สัตว์นำโรคจากสุนัข 15 ราย แมว 1 ราย เป็นสัตว์มีเจ้าของถึงร้อยละ 60 โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา  นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งถูกสุนัขที่ตนเองเลี้ยง กัด ข่วน และคิดว่าไม่เป็นไรทำให้ไม่เข้ารับการรักษา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image