เปิดตัวเลขคนกรุงตีทะเบียน ‘หมา-แมว’ 10 ปี แค่แสนตัว กทม.ยันขั้นตอนไม่ยุ่งยาก

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ออกข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 โดยให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครนำสุนัขไปรับการจดทะเบียน เพื่อให้ประชาชนผู้เลี้ยงสุนัขได้ตระหนักและเห็นความจำเป็นต่อการเลี้ยงสุนัข ลดปัญหาต่อชุมชนและสังคม รวมถึงปัญหาสุนัขถูกทอดทิ้งจนกลายเป็นสุนัขจรจัด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 กทม.ส่งเสริมให้ประชาชนนำสุนัขมาจดทะเบียน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม กรณีที่นำสัตว์มาจดทะเบียนกับหน่วยงาน กทม.

“จากข้อมูลปี 2551-ปัจจุบัน มีสัตว์เลี้ยงขึ้นทะเบียน รวม 100,000 ตัว ในจำนวนดังกล่าว พบตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียนจำนวนมากถึง 50,000 ตัว เนื่องจากโครงการรณรงค์ที่ กทม.จัดประชาสัมพันธ์เข้มข้น และออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ฉีดวัคซีน ทำหมันและขึ้นทะเบียนสัตว์ฟรี ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัขที่มีอายุมากกว่า 120 วัน จะต้องนำสุนัขไปจดทะเบียนทุกตัว โดยข้อมูลปัจจุบัน พบตัวเลขสุนัขเลี้ยง 580,000 ตัว สุนัขจรจัด 141,000 ตัว แมวเลี้ยง 300,000 ตัว แมวจรจัด 90,000 ตัว รวมทั้งหมด 720,000 ตัว” นายทวีศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายทวีศักดิ์กล่าวถึงการนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนว่า มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดย 1.นำสัตว์เลี้ยงฝังไมโครชิป ยังคลินิกสัตวแพทย์ กทม. รวม 8 แห่ง ได้แก่ กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถนนมิตรไมตรี ดินแดง โทร 0-2245-3311 หรือ 0-2248-7417, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร 0-2236-4055 ต่อ 213, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร 0-2914-5822, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร 0-2391-6082, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขตจตุจักร โทร 0-2579-1342, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร 0-2472-5895 ต่อ 109, คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง โทร 0-2476-6493 ต่อ 1104 และคลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร 0-2411-2432 หลังสัตว์เลี้ยงรับการฉีดฝังไมโครชิปแล้ว เจ้าหน้าที่จะขึ้นทะเบียนให้ทันที หรือ 2.กรณีที่ไม่นำสุนัขมาจดทะเบียนกับหน่วยงาน กทม. ประชาชนสามารถนำสัตว์ไปฝังไมโครชิปยังคลินิกสัตว์แพทย์เอกชนทั่วไป แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

“เมื่อฉีดฝังเรียบร้อยแล้ว ให้นำเอกสาร ประกอบด้วย 1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของสุนัข พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 2.สำเนาทะเบียนบ้านที่สุนัขอาศัยอยู่ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 3.หนังสือยินยอมให้สุนัขพักอาศัย จากเจ้าของบ้านที่สุนัขอาศัยอยู่ 4.หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาไม่เกิน 1 ปี และ 5.ใบรับรองและแบบคำขอจดทะเบียน กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ยังสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตใกล้เคียงและนำเอกสารดังกล่าวมาขึ้นทะเบียน โดยไม่มีค่าบริการ” นายทวีศักดิ์​กล่าว และว่า ผลตอบรับการขึ้นทะเบียนสัตว์มากพอสมควร แต่การประชาสัมพันธ์ยังไม่แพร่หลาย อาจทำให้มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียน ข้อดีแน่นอนลดปัญหาทอดทิ้งสัตว์ ผลักดันให้เกิดการเลี้ยงอย่างมีรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะกรณีสุนัขกัดหรือทำร้ายผู้อื่น เจ้าของจะต้องรับผิดชอบ ระหว่างการพิจารณากฎหมายฉบับใหม่นี้ มองว่าค่าธรรมเนียมจะต้องอยู่ในอัตราเหมาะสม ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยอมรับว่าไมโครชิปนั้นมีต้นทุนจริง ซึ่งปัจจุบัน แนวโน้มของผู้เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น นำมาสู่การให้บริการหลายประเภทที่เกี่ยวข้อง อาทิ โฮสเทลสัตว์​ คาเฟ่สุนัข-แมว บริการสปาสัตว์​ ฯลฯ เหล่านี้มองว่าต้องมีการควบคุมและจัดทำประวัติสัตว์ เพื่อจัดระเบียบสัตว์และนำข้อมูลมาบริหารจัดการ สอดคล้องกับนโยบายรณรงค์เรื่องโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ส่วนประเด็นบ้านเรือนที่เลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ประเด็นการรักและเมตตาต่อสัตว์นั้นไม่ใช่ปัญหา แต่อย่าให้เกินความพอดี ถามว่า 30-40 ตัว หรือเป็น 100 ตัว เกินความพอดีหรือไม่ ฉะนั้น อยากเลี้ยงต้องดูแลและรับผิดชอบให้ได้ หากไร้ซึ่งความรับผิดชอบ แน่นอนมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวดเหตุรำคาญ ข้อบัญญัติ กทม. พ.ศ.2548 หมวดการควบคุมการเลี้ยงสุนัข ล้วนมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ อย่างไรก็ตาม แม้มีกฎหมายบังคับใช้ แต่ปัจจุบันปัญหาการทอดทิ้งสุนัขยังคงเกิดขึ้น ทั้งที่ กทม.พยายามตัดวงจรแล้วก็ตาม

“ยอมรับเจ้าหน้าที่ กทม.อาจไม่เพียงพอในการออกตรวจตรา กวดขัน จับสัตว์จรจัด เพียงการลงพื้นที่ตามรับแจ้ง แต่ละวันมีการร้องเรียนเข้ามามาก มองว่าเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” นายทวีศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image