กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดข้อกังวลร่างกม.ตั้ง ‘ซุปเปอร์บอร์ด’

หลังจาก นพ.ชูชัย ศรชำนิ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณี ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ว่าเป็นระบบที่ไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตลอดจนระบบประกันอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งแต่ละระบบมีประวัติศาสตร์การปกป้องสิทธิของประชาชนด้วยโมเดลที่หลากหลาย และการมีซุปเปอร์บอร์ดจะเกิดผลกระทบต่างๆ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการของแต่ละบอร์ด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุถึงกรณีการตั้งซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ โดย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน กล่าวว่า มติ ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอ ทั้งที่ขั้นตอนการสอบถามความเห็นจากหลายหน่วยงานก็ทักท้วงในเรื่องของความซับซ้อนกับคณะกรรมการที่มีอยู่ และแม้กระทั่งตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร

ขณะที่มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุว่า นโยบายด้านระบบสุขภาพใดขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ปราศจากการมีส่วนร่วม การมีกฎหมายฉบับนี้ประชาชนไม่มีประโยชน์ใดๆ เพิ่มขึ้น มีแต่จะถูกลิดรอนสิทธิ ระบบหลักประกันสุขภาพจะได้รับผลกระทบมาก ประชาชนต้องช่วยกันหยุด ไม่เช่นนั้นระบบ 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของประชาชนที่ได้มาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย จากที่เคยเป็นสิทธิจะถูกทำให้กลายเป็นระบบอนาถา ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเมื่อป่วย เพราะคนกลุ่มนี้พูดตลอดเวลาว่า 30 บาทคือภาระประเทศ แต่สวัสดิการของข้าราชการไม่เคยเป็นภาระสำหรับพวกเขา

น.ส.กรรณิการ์กล่าวต่อว่า ภาคประชาชนคัดค้านกฎหมายคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินี้มาโดยตลอด แต่รัฐบาลที่ข้าราชการเป็นใหญ่นี้ไม่เคยสนใจรับฟังประชาชน กระบวนการรับฟังความเห็นที่กระทรวงสาธารณสุขผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้จัดขึ้นก็ทำแค่เป็นพิธีกรรมเท่านั้น ครม.ยังอนุมัติร่างกฎหมายนี้ที่มีเป้าหมายเป็นซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ ยึดอำนาจและกินรวบทุกบอร์ดสุขภาพ ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพที่ สธ.ผลักดัน เป็นการยึดอำนาจคืนจากประชาชน และให้ข้าราชการเป็นผู้ชี้ขาดทุกอย่าง โครงสร้างคณะกรรมการมี 45 คน มีประชาชนอยู่ในนี้แค่ 3 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพทางการแพทย์ มีแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า และกลาโหม ถามว่าเอากลุ่มนี้เข้ามาเขาก็ต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม

Advertisement

“ที่สำคัญคือกรรมการในสภาหอการค้าที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกไปเป็นกรรมการนั้นมีตัวแทนจากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์หรือพรีม่าอยู่ด้วย สมาคมนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ และที่ผ่านมามีบทบาทในการคัดค้านนโยบายด้านสุขภาพต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาตลอด ไปดูได้เลยในการประชุมต่างๆ ทั้งสมัชชาสุขภาพ ทั้งเรื่องเขตการค้าเสรี ตัวแทนจากพรีม่าจะพิทักษ์ผลประโยชน์บริษัทยาอย่างเข้มแข็ง และลิดรอนสิทธิประชาชนมาตลอด แต่คนแบบนี้กระทรวงสาธารณสุขกลับเลือกไปเป็นกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่มีเป้าหมายยึดอำนาจและกินรวบทุกบอร์ด และ ครม.ยังบ้าจี้อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ไปได้” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

น.ส.กรรณิการ์กล่าวว่า การที่ ครม.เห็นชอบเท่ากับว่ารัฐบาลนี้จ้องทำลายและจะยกเลิก 30 บาท เหมือนความพยายามที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่มาเป็นรัฐบาล ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพของ สธ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน พรรคการเมืองไหนที่ประกาศว่าจะยกเลิกซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพของ คสช.ประชาชนจะเลือกพรรคนั้น เพราะเราไม่ต้องการให้บอร์ดชุดนี้มาทำลายสิทธิ 30 บาทของประชาชน

 

Advertisement
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

อนึ่ง สำหรับร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนกังวลเด่นชัดคือ ข้อมาตรา 6 ที่ระบุถึงคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ 45 คน โดยระบุนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง และกรรมการโดยตำแหน่ง จากหน่วยงานของรัฐ จำนวน 12 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมการแพทย์

นอกจากนี้ยังมีกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะด้านสุขภาพ จำนวน 6 คน มีกรรมการจากสภาวิชาชีพ 9 คน กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 คน กรรมการผู้แทนภาคประชาสังคมและเอกชน 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน

โดยกรรมการมีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ และประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอต่อ ครม.ทุก 4 ปี รวมทั้งทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองนโยบาย เฉพาะที่สำคัญตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดก่อนนำเสนอ ครม. อาทิ นโยบายด้านระบบบริการสุขภาพ นโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ นโยบายระบบข้อมูลด้านสุขภาพ นโยบายด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image