สังคมเห็นคุณค่า คำตอบบั้นปลายของ ‘ผู้สูงวัย’

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันผู้สูงอายุสากลŽ (International Day of Older Persons) เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อให้ประเทศสมาชิก จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและรำลึกถึงผู้สูงอายุ ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ ยูเอ็นให้ความหมาย ผู้สูงอายุŽ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง โดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้สูงอายุสากลต่อเนื่องทุกปี

สำหรับปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 22 ภายใต้แนวคิด สูงวัย สูงค่า ร่วมพัฒนาสังคมไทย 4.0Ž ที่ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ภายในมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ การมอบโล่เกียรติคุณแก่ผู้สูงอายุดีเด่น การแสดงบนเวทีของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่เปิดให้ผู้สูงอายุแสดงศักยภาพ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุที่มาจากความตั้งใจ เป็นงานฝีมือประณีต ฯลฯ โดยมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

Advertisement

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ เปรียบเสมือนคลังปัญญาที่หลากหลาย มากด้วยประสบการณ์ นำมาสู่การพัฒนาเมืองและประเทศชาติให้มีความสุข ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สร้างงานและสร้างอาชีพมากมาย แสดงให้เห็นศักยภาพของผู้สูงอายุอย่างประจักษ์

Advertisement

ทั้งนี้ จากการสอบถามความรู้สึก และความในใจของผู้สูงอายุเหล่านี้ พบว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุคาดหวังในช่วงสุดท้ายของชีวิต คือ การที่สังคมได้มองเห็นคุณค่าของพวกเขา อย่างเช่น ตัวแทนผู้สูงอายุเหล่านี้

นายอรุณ สุริยะลังกา อายุ 80 ปี อาศัยอยู่ย่านรอยต่อกรุงเทพฯ-บางพลี จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานวันผู้สูงอายุสากล รู้สึกดีใจที่ กทม.เล็งเห็นถึงความสำคัญผู้สูงอายุ เคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั้น จะตื่นมาออกกำลังกายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.00 น. เดิน-วิ่ง ภายในสวนหลวง ร.9 และรำกระบี่กระบอง อย่างน้อยใช้เวลาวันละ 45 นาที ส่วนการเลือกรับประทานอาหาร

“เมื่อก่อนชอบรับประทานเนื้อสัตว์มาก แต่ปัจจุบันหันมารับประทานจำพวกผัก ปลา และไข่ ส่วนสิ่งที่ต้องการนั้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ไม่มีรายได้ จึงอยากให้เพิ่มสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด เช่น เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ทุกวันนี้ยอมรับว่าไม่เพียงพอ ตลอดชีวิตเคยทำงานเพื่อรัฐ หาเงินภาษีเข้าสู่รัฐ ก็อยากให้รัฐช่วยตอบแทนเรา เช่นเดียวกับที่เราทำงานเพื่อรัฐบ้าง”Ž นายอรุณกล่าว และว่า ในส่วนของ กทม.นั้น อยากให้เพิ่มสถานที่ออกกำลังกาย สวนสุขภาพ ให้ครอบคลุมตามพื้นที่ชุมชน หรือปรับปรุงเครื่องออกกำลังกายที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพดี เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุให้ความสนใจไม่ใช่น้อย รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐ หรือ กทม.อยากให้มีช่องทางหรือคลินิกพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ เพราะทุกวันนี้ต้องใช้เวลาเข้าคิวรักษาร่วมกับคนทั่วไป ทำให้ต้องรอนาน ทั้งๆ ที่บางครั้งเพียงไปรับยารักษา

ด้าน นางสุรีย์ สีมาวิจัย อายุ 73 ปี อาศัยอยู่ซอยเพชรเกษม 48 เขตภาษีเจริญ ปัจจุบันเป็นแม่บ้าน แต่ใช้เวลาว่างหารายได้เสริม ขายเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ เธอบอกว่า ก่อนจะคาดหวังสิ่งใด อยากให้ผู้สูงอายุทำตัวให้มีคุณค่า อย่าใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนการสร้างอาชีพให้ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดเตียงและติดบ้าน หากช่วยส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มคนเหล่านี้ จะช่วยให้เป็นผลดีต่อร่างกาย จิตใจ อย่างน้อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงช่วยสร้างรายได้ มากกว่าการนอนอยู่บ้านเฉยๆ

ป้าสุรีย์ กล่าวว่า ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมองว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ผู้สูงอายุต้องหาทางสร้างรายได้ สร้างอาชีพ โดยรัฐต้องสนับสนุนส่วนนี้ รวมถึงช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันมีการสร้างอาชีพ ผู้สูงอายุสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เองได้ แต่ยังไม่มีช่องทางการขาย

ขณะที่ นางรวีวรรณ แสงทอง อายุ 65 ปี บ้านอยู่ที่ย่านหนองแขม เปิดเผยว่า รู้สึกประทับใจที่มีหน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เดินทางมาร่วมงานที่จัดขึ้นเพื่อผู้สูงอายุทุกครั้ง เพราะมีความสุข ได้รู้จักเพื่อนผู้สูงอายุ ส่วนในช่วงสุดท้ายของชีวิต ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุต้องการให้สังคมเห็นคุณค่า อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลในส่วนที่จำเป็น กระนั้นผู้สูงอายุต้องเอาใจใส่และดูแลตัวเอง และทำให้ตนเองมีคุณค่าในสังคม

วันนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ16.5 หรือราว 11 ล้านคน ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ส่วนข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ของ กทม.นั้น พบมีผู้สูงอายุ ร้อยละ 17.3 หรือเกือบ 1 ล้านคนของประชากรราว 10 ล้านคน คาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2562

และสิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องการ ปฏิเสธไม่ได้ว่า…‚อยากให้สังคมมองเห็นในคุณค่าของพวกเขา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image