สบส.ชี้ ‘คาร์เมน’ เกิดก่อนกม. อุ้มบุญ ย้ำจากนี้อนุญาตเฉพาะคู่สมรสไทย ฝ่าฝืนโทษจำคุก

จากกรณี ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ตัดสินให้นายกอร์ดอน เลค ที่ 3 (Gordon Lake) ชาวอเมริกัน คู่รักชายได้สิทธิเลี้ยงดูเด็กหญิง “คาร์เมน” วัย 15 เดือนเศษ ซึ่งเกิดจากมารดาอุ้มบุญชาวไทย เป็นบุตรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือการอุ้มบุญ พ.ศ.2558 นั้น

เมื่อวันที่ 27 เมษายน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรณีของน้องคาร์เมน ถือเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนที่พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และมีผลบังคับใช้หลังลงในราชกิจจา 90 วัน คือตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งในบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ ในมาตรา 56 ได้ระบุให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือพนักงานอัยการ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย นับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่มีสิทธิทำอนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนไทยที่แต่งงานต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่มีบุตร ไม่อนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ทำ ห้ามมีการซื้อขาย หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นญาติสายตรงกับคู่สมรส มีบุตรมาแล้วเช่นกัน หากยังอยู่กินกับสามี จะต้องได้รับการยินยอมจากสามีก่อน ส่วนหญิงโสดไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการจะต้องตรวจประเมินความพร้อมทางร่างกายจิตใจและสภาพแวดล้อมของผู้รับบริการ และหญิงที่รับตั้งครรภ์ โดยสามารถใช้ 2 วิธีคือใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรืออสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ และห้ามทำเพื่อการค้า หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ผู้รับทำ นายหน้า และคู่สมรส

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า แพทย์ที่จะดำเนินการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ จะต้องเป็นแพทย์เชี่ยวชาญได้รับวุฒิบัตรจากแพทยสภาเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามซื้อขายไข่ อสุจิอย่างเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท กรณีที่พบมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นนายหน้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ 63 แห่ง ในกทม. 42 แห่ง อีก 21 แห่งอยู่ในต่างจังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี นครนายก นครศรีธรรมราช อุดรธานี จังหวัดละ 1 แห่ง เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา จังหวัดละ 3 แห่ง สงขลา ภูเก็ต พิษณุโลก จังหวัดละ 2 แห่ง การตั้งครรภ์ในกรณีที่ใช้เทคโนโลยีฯช่วยจะเหมือนการตั้งครรภ์ปกติทุกประการ หลังคลอดจะต้องแจ้งเกิดบุตรภายใน 15 วัน และสามารถเลี้ยงด้วยนมแม่ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image