เช็คด่วน หนาวนี้ อุทยานไหน รับนักท่องเที่ยวได้กี่คน เตือนก่อนเดี๋ยวจะไปเก้อ

กรมอุทยานฯแจงคุมจำนวนนักท่องเที่ยวมาแล้ว 10 ปี โต้ผู้ประกอบการศึกษามาแล้วไม่ได้เพิ่งนึกทำยัน “สิมิลัน” แออัดหนัก

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.พังงา เข้าร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลคัดค้านมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานฯ หมู่เกาะ สิมิลัน ของกรมอุทยานฯ ว่า กรมอุทยานฯ ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 จากนั้นในปี 2555 กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับนายธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะศึกษาขีดความสามารถการรองรับได้ด้านนันทนาการอุทยานฯ สิมิลัน จ.พังงา และต่อมาในปี 2558 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานประเมินขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการ (ด้านกายภาพ) ในพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเล จนกระทั่งในช่วงปี 2559 -2560 ที่เกิดปัญหานักท่องเที่ยวแออัดอย่างมากในพื้นที่อุทยานฯ สิมิลัน จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานประเมินขีดความสามารถในการรองรับและกำหนดมาตรการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คณะทำงานฯ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สกว. โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ของอุทยานฯ สิมิลัน และที่สำคัญมีการจัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้งตลอดช่วงปี 2561 จนได้ข้อสรุปในการออกประกาศกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม เรื่องการปิดการพักแรมอุทยานฯ สิมิลัน และประกาศกรมอุทยานฯ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม เรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลัน และกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลัน ยืนยันว่ากรมอุทยานฯ ไม่ได้เพิ่งมานึกจะทำเรื่องนี้ แต่ได้มีการศึกษาเรื่องมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานฯ มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งผู้ประกอบการรายเก่าของท้องถิ่นส่วนมากเห็นด้วย แต่ผู้ประกอบการรายใหม่ยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้อยู่

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า อุทยานฯ สิมิลัน ไม่ได้เป็นพื้นที่เดียวที่ดำเนินมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะได้ออกประกาศเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2550 จากปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว จึงได้มีการศึกษาและประเมินความสามารถในการรองรับได้ของอุทยานฯ โดยเฉพาะอุทยานฯ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของนักท่องเทียว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมากจนอาจนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสภาพธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทำให้ยากต่อการฟื้นฟูและบริหารจัดการให้คงสภาพเดิมได้

Advertisement

นายทรงธรรม กล่าวว่า โดยอุทยานฯ กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อุทยานฯ ห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 1,034 คน/วัน อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 1,000 คน/วัน เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยผ้าห่มปก เข้าได้ 10คน/ชุด ระยะห่างแต่ละชุดไม่น้อยกว่า 10 นาทีไม่เกิน 100 คน/วัน อุทยานฯ อินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนได้ไม่เกิน 810 คน/วัน อุทยานฯ สุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 850 คน/วัน อุทยานฯ ภูกระดึง จ.เลย พักค้างคืนได้ไม่เกิน 5,300 คน/วัน อุทยานฯ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พักค้างคืนไม่เกิน 2,600 คน/วัน อุทยานฯ เอราวัณ จ.กาญจนบุรี พักค้างคืนไม่เกิน 742 คน/วัน อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พักค้างคืนได้ไม่เกิน 1,500 คน/วัน อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ เที่ยวแบบไปกลับ 2,065 คน หมุนเวียนแต่ละแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา พักค้างคืนไม่เกิน 620คน/วัน และอุทยานฯ สิมิลัน จ.พังงา เดิมกำหนดให้เที่ยวแบบไปกลับ 1,450 หมุนเวียนแต่ละแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา และพักค้างคืนได้ไม่เกิน 180 คน/วัน

นายทรงธรรม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวมักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวในอุทยานฯ เหล่านี้ที่มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ติดต่อสอบถามหรือจองที่พักแรมก่อนโดยสามารถสอบถามได้ที่กรมอุทยานฯ www.dnp.co.th เฟซบุ๊กแฟนเพจกรมอุทยานแห่งชาติ โทรศัพท์หมายเลข 025620760-2 หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่อุทยานฯ ดังกล่าวโดยตรง โดยขณะนี้อุทยานฯ หลายแห่ง เช่น อุทยานฯ เขาใหญ่ มียอดจองที่พักค้างแรมยาวไปถึงช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 จึงขอให้นักท่องเที่ยวติดตามข้อมูลข่าวสารให้พร้อม หรือสามารถไปท่องเที่ยวยังอุทยานฯ ข้างเคียงอื่นๆ ที่มีธรรมชาติสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่งไม่แพ้กันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image