อย.แจง! สหรัฐไม่ได้แบน ‘น้ำปลาไทย’ แค่ขอเอกสารเพิ่มแค่รายเดียว

จากกรณีข่าวองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) หรือ อย.สหรัฐฯ สั่งแบน “น้ำปลาไทย” เนื่องจากต้องการให้ไทยตรวจสอบพิสูจน์สารปนเปื้อนจากการหมักน้ำปลาว่า ไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง เพราะการหมักน้ำปลาจะใช้เป็นปลาตัวเล็กจึงไม่สามารถชำแหละเอาไส้ปลาออกได้

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย.  นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าว

โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย.มีการกำกับดูแลการผลิตน้ำปลาทั้งก่อนและหลังจำหน่าย โดยกระบวนการผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือมาตรฐาน GMP รวมถึงต้องได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำปลา โดยไม่ต้องพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ซึ่งเมื่อปี 2560 ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัมในตัวอย่างน้ำปลา 48 ตัวอย่าง ซึ่งไม่พบสารพิษและเชื้อแบคทีเรียทุกตัวอย่าง ทั้งนี้ ยืนยันว่า น้ำปลาไทยมีคุณภาพมาตรฐานทั้งหมด

Advertisement

นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ยืนยันว่าน้ำปลาไทยมีคุณภาพ ส่งออกได้ สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ส่วนกรณีดังกล่าวไม่ใช่การสั่งแบนน้ำปลาไทยแต่อย่างใด หรือไม่มีคุณภาพไม่ปลอดภัย แต่เป็นเพียงการขอเอกสารเพิ่มเติมประกอบการนำเข้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย.จะเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำปลา และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับ อย.สหรัฐฯ เรื่องความปลอดภัยในการะบวนการผลิตน้ำปลาของประเทศไทยต่อไป รวมถึงจะทบทวนมาตรฐานน้ำปลา ทั้งเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่นๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการเพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น ส่วนกรณีว่าน้ำปลามีสารก่อมะเร็งหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงคือ ในน้ำปลาพบสารฮีสตามีน ซึ่งมีการศึกษาว่าเกี่ยวข้องสารก่อมะเร็ง แต่พบได้น้อยมาก หากจะได้รับจนเสี่ยงมะเร็งต้องได้รับปริมาณมาก แต่น้ำปลาเราใช้แค่เครื่องปรุงรส และไม่พบว่าเคยมีคนป่วยด้วยโรคมะเร็งจากน้ำปลา

นายวิทยากร กล่าวว่า การที่ อย.สหรัฐฯ ขอข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการตรวจสอบของทุกประเทศที่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว โดยในส่วนของน้ำปลาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อกังวลจนต้องขอเอกสารเพิ่มเติมเพียง 4 ครั้ง ครั้งล่าสุด คือ พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีการกักสินค้าเพียงล็อตเดียวของผู้ประกอบการรายหนึ่ง และขอข้อมูลเรื่องกระบวนการผลิตเพิ่มเติม ซึ่งทางบริษัทก็ได้ส่งเอกสารไปแล้ว โดยปกติจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2-3 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ อย.สหรัฐฯ และชี้แจงกลับมาอยู่ ส่วนเรื่องว่าจะกระทบกับการส่งออกน้ำปลานั้นก็ไม่จริง เพราะไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกน้ำปลาอันดับ 1 มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะส่งเข้าสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยฮ่องกงอันดับ 2 ขณะที่การส่งออกเข้าญี่ปุ่นและอาเซียนยังเป็นที่นิยมมากขึ้น ยืนยันว่าการส่งออกน้ำปลาไทยยังราบรื่นเช่นเดิม เพราะเป็นการขอเอกสารเพิ่มเติมของผู้ประกอบการรายเดียว รายอื่นยังคงนำเข้าสหรัฐฯ ได้ตามปกติ มิเช่นนั้นตัวเลขส่งออกคงไม่โต โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อัตราเติบโตอยู่ที่ 1-2%

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การจะนำสินค้าเข้าสหรัฐฯ ได้นั้น ไม่ใช่แค่มีเพียง อย.ไทยก็เข้าได้ แต่จะต้องขอทะเบียนจาก อย.สหรัฐฯ ด้วย ซึ่งมีการลงทะเบียนออนไลน์ได้ และจะต้องยื่นลงทะเบียนวิธีการผลิตสินค้าแต่ละประเทศด้วย แต่ละปี อย.สหรัฐฯ ก็จะมาสุ่มตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2557 สหรัฐฯ ได้ออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติมคือ การน้ำเข้าน้ำปลาจะต้องผ่านกระบวนการต้ม ซึ่งปกติแล้วน้ำปลาบ้านเราจะใช้วิธีการหมัก ดังนั้น เมื่อมีเกณฑ์ดังกล่าวออกมา หากจะนำไปจำหน่ายที่สหรัฐฯ ก็ต้องทำน้ำปลาด้วยวิธีการต้ม ซึ่งก็พยายามปรับปรุงให้รสชาติ กลิ่น และสี เปลี่ยนน้อยที่สุด คงความเป็นเอกลักษณ์เอาไว้

Advertisement

“การที่สินค้าถูกกักและขอเอกสารไว้ตรวจเพิ่ม 1 ล็อตนั้น ก็เป็นเพราะขอดูเอกสารเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตมีการต้มจริงหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายปรับปรุงวิธีการผลิตแล้ว แต่อาจไม่ได้อัปเดตเอกสารออนไลน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ พยายามรวบรวมเอกสารและยื่นให้ทางสหรัฐฯ เข้าใจถึงกระบวนการผลิตน้ำปลาว่า การหมักเป็นวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง และมีความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการยอมรับวิะการทำน้ำปลาต้นตำรับ” นายวิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image