จุฬาฯเดินหน้าพัฒนายาแอนติบอดี้รักษามะเร็ง 15 ชนิด พร้อมเตรียมวิจัยเซลล์บำบัดในอนาคต

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ​ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ​ ในฐานะ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์​ สภากาชาดไทย​ แถลงข่าวแพทย์จุฬาฯก้าวไกล… สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง​ ว่า​ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น​ โดยเฉพาะไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พบโรคมะเร็งมากขึ้น​ จุฬาฯจึงมียุทธศาสตร์ในการวิจัย​ การเรียน การสอนเพื่อให้คนไทยได้รับการดูแลเรื่องโรคมะเร็งอย่างครบวงจร​ โดยจุฬาฯมีความพร้อมในทุกศาสตร์ของโรคมะเร็ง​ และเพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าถึงสิทธิในการรักษาอย่างเท่าเทียม​ โครงการรักษาด้วยแอนติบอดี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุฬาฯทำการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม​ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง

นพ.ไตรรักษ์​ พิสิษฐ์กุล​ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบคณะแพทยศาสตร์​ จุฬา​ฯ​ กล่าวว่า​ การรักษามะเร็ง​ ส่วนใหญ่มักจะใช้หลายวิธีในการรักษาร่วมกัน​ ถ้ามีโรคเฉพาะการรักษาหลักจะเป็นการผ่าตัดหรือฉายแสง​ การใช้ยาเคมีบำบัดมักเป็นการรักษาเสริมถ้าโรคใดไม่สามารถรักษาเฉพาะที่ได้เช่นเดียวกับการใช้แอนติบอดี้ก็เป็นหนึ่งในการรักษาเสริมส่วนใหญ่จะใช้รักษาในระยะท้ายๆ​ แต่ก็มีการรักษาโรคมะเร็งปอดในระยะแรกแต่ต้องรักษาร่วมกับวิธีอื่นด้วย​ อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันมนุษย์มีหลายชนิด และจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์เป็นตัวทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ ทั้งนี้ อวัยวะต่างๆ จะมีการผลิตเซลล์ที่ชื่อว่าพีดี-แอล 1 ซึ่งเป็นโมเลกุลในเม็ดเลือดขาว มาจับตัวกับเซลล์พีดี-1 หรือโมเลกุลบนเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งไม่ให้ทำงานมากเกินไป และทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับสู่สมดุล ดังนั้น เทคโนโลยีในการผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกัน จึงเป็นการค้นหาแอนติบอดี้เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์พีดี-แอล 1 มาจับคู่กับพีดี-1 ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ต่อเนื่อง สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งขณะนี้ทีมนักวิจัยจุฬาฯได้ค้นพบแอนติบอดี้ต้นแบบ 1 ตัว สามารถหยุดการทำงานไม่ให้พีดี-1 และพีดี-แอล1 มาจับคู่กันได้ ให้ผลในหลอดทดลองใกล้เคียงกับยาแอนติบอดี้ของต่างประเทศ​ ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองให้ใช้รักษาในมะเร็ง 15 ชนิด​ อาทิ​ มะเร็งปอดมะเร็งผิวหนัง​ มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง​ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ​ มะเร็งปากมดลูก​ เป็นต้น

“การผลิตยาจะทำทั้งหมด 5 เฟส​ ขณะนี้เฟส 1 คือการผลิตยาแอนติบอดี้ต้นแบบจากหนูเราทำสำเร็จแล้ว​ได้ต้นแบบมา ​1 ตัว​สามารถพัฒนาเฟส 2 คือการปรับปรุงแอนติบอดี้ให้มีความคล้ายของมนุษย์และเพิ่มประสิทธิภาพได้เลย​ เพราะได้รับเงินบริจาคเกิน 10 ​ล้านบาทแล้ว​ ​แต่ก็ยังสามารถบริจาคเข้ามาได้เรื่อยๆ เพราะจริงๆ ต้องการงบ 200​ ล้านบาท​ ทั้งนี้ ระหว่างทำวิจัยเฟส 2 ก็จะมีการทำการผลิตยาแอนติบอดี้ต้นแบบจากหนูไปด้วยเพราะเราต้องการเพิ่มอีก 10 ตัว​ เนื่องจากต้นแบบ 1 ตัวมีความเป็นไปได้ที่จะได้ตัวยาที่ไม่ซ้ำกับประเทศอื่น​ประมาณ 10% เราจึงต้องการต้นแบบเพิ่มอีก 10​ ตัวเพื่อป้องกันการผิดพลาด​ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 จะมียาใช้ทดลองในผู้ป่วยได้ และหากได้ยาแอนติบอดี้มาก็อยากให้เป็นสิทธิบัตรของสภากาชาดไทย​ รวมถึงให้สภากาชาดไทยเป็นผู้กระจายยาดังกล่าวด้วย​ ทั้งนี้ การที่เราทำการศึกษาวิจัยพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทย​ เพราะขณะนี้เราต้องนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศ 100% ยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพงผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษาการผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้เราสามารถควบคุมราคาค่ารักษาได้และสามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยด้วย” นพ.ไตรรักษ์กล่าว​

Advertisement

ศ.พญ.ณัฏฐิยา ​ หิรัญกาญจน์  หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ​ กล่าวว่า​ แอนติบอดี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกคนใช้ได้เฉพาะบางคน​เท่านั้น​  แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรายใดใช้แอนติบอดี้รักษาไม่ได้ก็จะต้องใช้วิธีอื่น​ ซึ่งจุฬาฯกำลังทำการวิจัยพัฒนา​ต่อยอด​ เช่น​ การ​ใส่เซลล์เม็ดเลือดขาวหรือที่เรียกว่าเซลล์บำบัด​ แต่วิธีนี้ต้องทำในที่ที่มีความสะอาดและปลอดภัยเท่านั้น​ นอกจากนี้ยังมีวิธีการผลิตวัคซีนรักษาโรคมะเร็งโดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกัน​ เป็นต้น ​ซึ่งทั้ง2ตัวนี้จุฬาฯกำลังต่อยอดทำวิจัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยาแอนติบอดี้​ยังมีราคาสูง​เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ​ ซึ่งผู้ป่วย 1 รายต้องจ่ายเงินในการรักษาเองประมาณ​ ​8​​ ล้านบาท​  ดังนั้น หากจุฬาฯพัฒนาจนสำเร็จค่าใช้จ่ายจะถูกลง​  ซึ่งหวังว่าราคาน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน​ 1​ ล้านบาท​ หรือตั้งเป้าว่าถูกลง​ 10​ เท่า​ ​ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าในการรักษา​ และเชื่อว่ารัฐบาลอาจมีการนำยาเข้าสู่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง​  ดังนั้นเราต้องรีบทำการวิจัยและพัฒนาให้ได้ยามาใช้โดยเร็วที่สุดภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย

“สมทบทุนได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขบัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสภากาชาดไทย และบัญชีใหม่ที่เพิ่งเปิดเลขที่บัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ 045-304669-7 ชื่อบัญชีบัญชีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)” ศ.พญ.ณัฏฐิยา​กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image