ตลาดรอบบ้าน “ป้าทุบรถ” ยังไม่รื้อ ผอ.เขตประเวศเผยรอศาลตัดสิน

ความคืบหน้ากรณีเจ้าของบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่า แยก 2 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุบรถยนต์ของผู้ที่ไปจอดหน้าบ้านเพื่อซื้อของภายในตลาดติดกับบ้านได้รับความเสียหาย จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การฟ้องร้อง และศาลมีคำสั่งยุติกิจการตลาดทั้ง 5 แห่งรอบบ้าน ซึ่งต่อมา กทม.ได้ทำการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. เปิดเผยว่า ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีให้ยุติการค้า 5 ตลาด ได้แก่ ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวานิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา และตลาดร่มเหลือง พร้อมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้ผู้ถูกฟ้องร้อง คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตประเวศ และ กทม. สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นั้น ส่วนนี้ กทม.ขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลไปแล้ว แบ่งเป็น 1.กรณีละเมิด ให้ กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนเงิน 1,473,600 บาท และ 2.กรณีไม่ดำเนินการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ส่วนนี้ทางเขตมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าของบ้านไม่เคยทำหนังสือหรือร้องเรียนมายังสำนักงานเขต จนเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น กทม.ยื่นอุทธรณ์ทั้งสองกรณี ขณะที่ตลาดทั้งหมดก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเช่นเดียวกัน ปัจจุบันจึงรอศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ระหว่างนี้ผู้เกี่ยวข้องสามารถส่งหลักฐานเพิ่มเติมประกอบสำนวนได้

นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนปัจจุบันโครงสร้างอาคารตลาดทั้งหมด เนื่องจากตามกฎหมายได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าพนักงานเป็นผู้ออกใบอนุญาตจัดตั้งตลาด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารสุข พ.ศ.2535 ก่อนหน้านี้ เขตรื้อถอนโครงสร้างส่วนที่ผิดกฎหมายออกทั้งหมด พิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป เพราะทั้งหมดขอจัดตั้งตลาดคนละประเภทกัน โดยในส่วนก่อสร้าง หรือต่อเติมสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมาย เขตสั่งให้เจ้าของตลาดดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ ตลาดยิ่งนรา ขอจดเป็นอาคารพาณิชย์ แต่มีการต่อเติมลานจอดรถให้เป็นร้านค้า ต้องแก้ไขตามที่ขออนุญาต ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต จดเป็นอาคารพาณิชย์ก็ต้องรื้อส่วนต่อเติมโดยรอบให้ถูกต้อง ตลาดร่มเหลืองเข้าข่ายตลาดประเภท 2 แต่ไม่ได้ขอนุญาตจัดตั้งตลาด ทางเขตให้หยุดกิจการ ส่วนทางตลาดจะมายื่นขอจัดตั้งตลาดใหม่นั้น ต้องชะลอการดำเนินการออกไปก่อน เนื่องจากทั้งหมดรอคำสั่งศาลพิพากษาตัดสินว่า พื้นที่ดังกล่าวสามารถจัดตั้งตลาดได้หรือไม่ หรือให้ก่อสร้างเพื่อที่พักอาศัย ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์

นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาให้สามารถก่อสร้างเฉพาะที่พักอาศัย ทางเขตจะต้องรื้อโครงสร้างอาคารทั้งหมด โดยให้เจ้าของตลาดเป็นผู้รื้อถอนเองตามขั้นตอน และหากศาลพิพากษาให้จัดตั้งตลาดได้เฉพาะอาคารพาณิชย์ ต้องดูว่าโครงสร้างตลาดใดที่เข้าข่ายเงื่อนไขบ้าง

Advertisement

“สรุปว่าเรื่องตลาดป้าทุบรถ ทุกฝ่ายทั้งเขต เจ้าของบ้าน ตลาดทั้ง 5 แห่ง ปัจจุบันทุกฝ่ายทำตามคำสั่งศาลทุกประการ ขณะเดียวกัน ทางเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจสอดส่อง กวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าและไม่ให้มีการจัดตั้งตลาดบริเวณโดยรอบบ้านป้า ตามที่ป้าร้องเรียนเหตุรำคาญ” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ยอมรับว่าเหตุเดือดร้อนมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ส่วนแนวทางการแก้ไขมีเพียงแนวทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่หลักรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ แต่เป็นหลักเจรจราเท่านั้น โดยทุกฝ่ายที่เดือดร้อน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องหันหน้าคุยกัน โดยที่สำนักงานเขตหรือเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นตัวกลาง ประสานเรื่องร้องทุกข์ โดยเฉพาะเขตประเวศที่แต่ละวันมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามาก จะใช้การเจรจาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผล ยกตัวอย่าง บางกรณีมีคู่กรณีขัดแย้งกันมา 18 ปี แต่ไม่เคยหันหน้าคุยกัน ท้ายสุดยอมเจรจาร่วมกัน โดยมีเขตเป็นตัวกลาง จนมีข้อยุติและปัจจุบันใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข

“เขตต้องเป็นตัวกลาง หรือผู้ประสานงาน เพราะบางเรื่องเขตไม่สามารถแก้ไขปัญหากันเองได้ บางเรื่องจำเป็นต้องประสานหน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ผมยอมรับว่ากรณีป้าทุบรถ ขณะนั้น ผมเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการเขตประเวศไม่นานมากนัก ก่อนจะเกิดเรื่องทุบรถ ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับป้า เพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกัน จนตอนท้ายไม่สามารถพูดคุยได้ นำมาสู่การฟ้องร้องและเรื่องราวสู่ชั้นศาล จึงขอยกกรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนของทุกเขต” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image