‘บิ๊กอู๋’ ยันไทยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นางเฮนเรียตตา เอช. โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ เรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มการลงทุนพัฒนาเยาวชนอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า จากข้อมูลสถิติแรงงานปี 2560 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ร้อยละ 15 ของเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี หรือประมาณ 1.3 ล้านคน ในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใดๆ ว่า ในเรื่องนี้ขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการ และแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน แรงงานทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือ ภาษา และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่และอยู่ระหว่างการหางานทำ โดยจัดแนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จับคู่ตำแหน่งงาน ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย ผ่านเว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และตู้งาน จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา บูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะแก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น ส่วนระยะยาวภายใน 1-2 ปี กระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้างจิตสำนึก นักเรียน นักศึกษา และครอบครัวให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image