เปิด 7 ปัญหาหลักกับภาระงานแพทย์ในรพ.รัฐขนาดเล็ก ที่หลายคนอาจไม่รู้!

กรรมการแพทยสภาเผยปัญหาแพทย์ทั่วประเทศพบหลักๆ 7 ข้อ ล่าสุดผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานกรอบชั่วโมงทำงาน ถือเป็นเรื่องดี

ภาระงานแพทย์ – เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงปัญหาภาระงานของแพทย์ ทั่วประเทศ ว่า ทุก ๆ ปีกรรมการแพทยสภาจะจัดให้มีการแวะเยี่ยมเยียนสมาชิกที่ออกไปปฏิบัติงานในท้องที่ห่างไกล  โดยอยู ่ในโครงการภายใต้ชื่อว่า “แพทยสภาสัญจร”  เพื่อให้คณะกรรมการแพทยสภารับทราบปัญหาที่แท้จริงของสมาชิกที่ปฏิบัติงานในที่ห่างไกล เพื่อที่จะหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับสมาชิกทั้งหมด ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ทำให้พบว่า 1. ปัญหาของโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลที่แวะเยี่ยม เช่น โรงพยาบาลกันทรลักษ์ โรงพยาบาลกันทรารมย์ โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลแม่จัน เป็นต้น โรงพยาบาลเหล่านี้มักประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน หลักๆ ดังนี้

1.ขาดแคลนแพทย์ที่อยู่ประจำเป็นระยะเวลานาน ๆ อันเนื่องมาจากระยะทางจากตัวจังหวัดหรือบ้านเกิด ทำให้แพทย์ที่มาอยู่ที่นี่เกือบทั้งหมดมาจากการจับสลากเพื่อชดใช้ทุน ดังนั้น เมื่อครบทุนส่วนใหญ่จึงขอย้ายออกกลับไปยังภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นที่ต้องการ ซึ่งมักเป็นที่มีเครืองไม้เครื่องมือทางการแพทย์ดีกว่า หรือมีโอกาสก้าวหน้า กลับไปเรียนต่อเฉพาะทางดังนั้นจึงทำให้เหลือเฉพาะแพทย์ที่ทำงานบริหาร ซึ่งมักเป็นคนพื้นที่หรือแพทย์ที่ตัดสินใจปักหลักแล้วเท่านั้นปัญหานี้ยังเป็นเหตุสำคัญให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

2. ปริมาณผู้ป่วยต่อจำนวนบุคลากร ทั้งแพทย์และพยาบาล ไม่ได้สัดส่วนอย่างมาก หลายแห่งแพทย์ต้องออกตรวจผู้ป่วยนอกตั้งแต ่เช้าจนถึงเย็นไม่ต่ำกว่า 300-500  ราย บางแห่งมีจำนวนแพทย์ประจำเพียง 2-3 ท่าน ท่านหนึ่งต้องทำงานบริหาร(ผู้อำนวยการ) ที่เหลือ ผลัดกันออกตรวจทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน(IPD)  หลาย ๆ ครั้งที่เมื่อแพทย์ที่ทำงาน IPD เสร็จ ก็ต้องรีบไปช่วยตรวจOPDรวมทั้งผู้อำนวยการเองหากไม่ติดราชการก็มักต้องลงมาช่วยน้อง ๆ ตรวจ หากบางวันที่ส่วนกลางมีการเรียกประชุมสำคัญ ๆ ก็ต้อง
ส่งแพทย์ที่ปฏิบัติงานท่านใดท่านหนึ่งเข้าร่วมประชุมมิฉะนั้นอาจพลาดโอกาสสำคัญ ๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น การของบประมาณ เป็นต้น การขาดระบบนัดหมายการไม่เอาใจใส่หรือขาดความรู้หรือไม่สนใจที่จะดูแลตนเอง รวมทั้งการรักษาฟรีทุกอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พึ่งพาตนเอง ส่งผลให้แพทย์เหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สามารถใช้กำลังสมองไป คิดงานอย่างอื่นเพื่อความก้าวหน้าของโรงพยาบาลได้เลย

3. ปัญหาความไม่พอใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งต่อเนื่องมาจาก ๒ ปัญหาข้างตน เช่น รอแพทย์ตรวจนาน แพทย์พูดจาไม่ดีไม่ไพเราะ แพทย์ขาดความมั่นใจในการรักษา เพราะเป็นแพทย์จบใหม่ ซึ่งขาดทักษะการดูแลรักษา การพูดจาปฏิสัมพันธ์

Advertisement
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ

4. ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วย เดิมการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษามักจะจำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดใหญ่ หรือผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน หากไม่ใช่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แล้วแพทย์มักจะดูแลเบื้องต้นให้ก่อน จนกว่าจะเห็นว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ แต่เมื่อมีคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับแนวทางการรักษา เช่น การตัดสินจำคุกแพทย์ในกรณีผ่าตัดไส้ติ่ง การทำคลอดการสังเกตอาการเบื้องต้นแล้วล่าช้าเกินไป ทำให้แนวโน้มการส่งต่อสูงขึ้น จนทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กถูกมองว่าไม่ต่างจากสถานีอนามัยที่คอยจ่ายยาโรคเรื้อรัง รักษาหวัด ส่วนการผ่าตัดนั้นหยุดสิ้นลงโดยสิ้นเชิง แม้จะมีคำพิพากษากลับในศาลสูงแต่ไม่ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไป“ความเชื่อสำคัญกว่าความจริง” ความเชื่อที่ว่าหากรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีความพร้อมสูงสุดอาจต้องโทษอาญาและแพ่งได้ ถูกฝังลึกลงไปเรียบร้อยแล้วผ่านการสั่งเสียจากรุ่นสู่รุ่นดังนั้นคงยากที่จะเห็นโรงพยาบาลขนาดเล็กกลับมาเปิดห้องผ่าตัดอีก จนกว่าฝ่ายบริหารในส่วนกลางจะลงมาแก้ปัญหาทั้งหมด

“ปัญหายังไม่จบลงด้วยการส่งต่อ แต่ยังเกิดขึ้นที่ปลายทาง ซึ่งเป็นฝั่งรับผู้ป่วยที่มักปฏิเสธ เพราะเตียงเต็ม (ซึ่งก็เต็มจริง ๆ) ทำให้แพทย์ในสถานพยาบาลขนาดเล็กเกิดความเครียด ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งและมีแนวโน้มขอย้ายออกนอกพื้นที่ ปัญหานี้ในบางแห่งที่ผู้อำนวยการมีความสามารถสูง ก็จะช่วยลดปัญหาลงด้วยการพูดคุยกับสถานพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อให้รับผู้ป่วย โดยอาจมีการแลกเตียงกัน เช่น นำส่งคนไข้ที่มีอาการหนักไปสถานพยาบาลขนาดใหญ่และแลกกับการนำผู้ป ่วยเรื้อรังที่สถานพยาบาลขนาดเล็ก พอดูแลได้กลับมา เป็นต้น และ 5. ปัญหาการขาดความมั่นใจในการทำหัตถการ เกิดจากปัจจัยหลัก ๆ อาทิ กังวลถูกฟ้องร้อง ความไม่พร้อมของสถานพยาบาล เช่น ขาดวิสัญญีแพทย์ ขาดบุคลากรในการดูแลหลังทำผ่าตัด ปัญหานี้กระตุ้นให้แพทย์ตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยทั้งหมดทั้งหมดเพื่อไปรับการทำหัตถการในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมักตรงกับความต้องการของญาติอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะไปกองที่ปลายทาง” นพ.เมธี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมี 6.ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานและพักผ่อน แพทย์ที่ไปอยู่หากปรับตัวกับภาระงานไม่ได้จะต้องเผชิญความเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ลาออกหรือย้ายออกเร็วขึ้น และ  7.ปัญหารายได้น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมด  ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่าเรื่องอื่นอาจเป็นเพราะมีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ หรือความสามารถในการหารายได้จากแหล่งอื่น นี่เป็นตัวอย่างปัญหาของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากปัญหาดังกล่าวล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ นพ.เมธี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารระดับสูง ออกมายอมรับถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เพราะคุณภาพการรักษาผู้ป่วย ต้องเริ่มจากคุณภาพคนทำงาน เป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) ออกกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย เพื่อให้บุคลากรทำตาม แต่กลับลืมเรื่องสำคัญที่สุด 2 อย่างคือ 1. ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม 2.อัตรากำลังคนทำงานต่อจำนวนผู้ป่วย ทั้ง ๆที่สองเรื่องนี้ สำคัญที่สุดในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ทุก ๆ อย่างต้องเริ่มจากคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image