‘พยาบาล’ ทวงด้วย เข้าเวรทะลุ40ชม. จวก สธ.แก้ปัญหาช้า ยกเคส ‘อมก๋อย’ ต้องลงขันช่วยทายาท

กรณี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้านโยบายพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการบริการที่ดีต่อประชาชน โดยหนึ่งในนโยบายมีเรื่องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะกรณีที่แพทย์ และพยาบาลมีภาระงานล้นมือ ซึ่งเตรียมดำเนินการจัดทำกรอบเวลาในการปฏิบัติงานให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพนั้น

ล่าสุด นางจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพยาบาลชุมชน เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหากรอบเวลาการทำงานแพทย์และพยาบาล ในส่วนของพยาบาลเกิดมาจากอัตรากำลังไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้จำนวนมาก ทำให้ต้องทำงานเกินเวลา ซึ่งการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ปัจจุบันแม้กรอบอัตรากำลังพยาบาลยังไม่เต็มอัตรา แต่ก็ไม่ได้มีการบรรจุ โดยให้ใช้วิธีการจ้างลูกจ้างวิชาชีพ ซึ่งกรอบอัตรากำลังการจ้างพนักงานของสถานพยาบาล จะคิดตามภาระงาน จำนวนประชากร โอกาสที่จะพัฒนาหน่วยงานเพื่อบริการประชาชน โดยจัดกรอบอัตราจ้างร้อยละ 80 ของจำนวนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการทั้งหมด ทำให้พยาบาลไม่พอต่อการดูแลผู้ป่วย ต้องอยู่เวร ทำงานนอกเวลา ส่วนการจัดเวรของพยาบาลไม่สอดคล้องกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ เพราะจำนวนคนไข้แต่ละวันไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ บางครั้งการจัดเวรเช้า บ่าย ดึก 2 คนนั้นไม่พอ ส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยขั้นต่ำ 30 เวรต่อคน กระทบต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ

นางจรรยาวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาอัตรากำลังของพยาบาล อาจเพราะส่วนหนึ่งงบไปผูกติดกับค่าหัวประชาชนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้มีปัญหาไม่สามารถจ้างพยาบาลได้ จึงต้องรับแบกภาระดังกล่าว ท้ายสุดสิ่งที่เห็นได้ชัดปัจจุบัน ประสิทธิภาพและคุณภาพของการรักษา ทั้งนี้ เนื่องจากพยาบาลทำงานคู่กับแพทย์ เมื่อแพทย์ทำงานหนัก พยาบาลต้องทำงานหนักด้วย ขณะเดียวกัน พยาบาลที่ต้องไปทำงานเกี่ยวกับงานส่งเสริมความรู้สุขภาพให้ความรู้ต่อชุมชน ลงพื้นที่ไปยังชุมชน ซึ่งกำหนดสัดส่วน 1 ต่อ 2,500 คน เป็นสัดส่วนที่มากเกินไป ทำให้ภารกิจดังกล่าว ทำได้ไม่ครอบคลุม เพราะการส่งเสริมสุขภาพชุมชนสำคัญ บางครั้งอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนสามารถรักษาให้หายเองได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล อย่างน้อยควรกำหนด 1 ต่อ 800-900 คน ให้พยาบาลดูแลคนไข้ให้ทั่วถึง ลดปัญหาคนล้นโรงพยาบาล

“ถ้าหมอร้องเรื่องกรอบเวลา อยากให้คำนึงถึงพยาบาลด้วย เพราะต่างทำงานควบคู่กัน ต้องไม่ให้ภารกิจโหลดทั้งคู่ หากไม่แก้ทั้งคู่ ปัญหาจะหนักอีกฝั่ง เพราะทุกวันนี้ ความเป็นจริงพยาบาลทำงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมง อยู่แล้ว บางคนทำงานทะลุ 40 เวร ทำให้การบริการมีปัญหา กระทบต่อโรงพยาบาล ส่วนล่าสุดที่สธ.ตั้งคณะกรรมการเข้ามาแก้ปัญหา คิดว่าปัญหาเกิดขึ้นมานานแล้ว ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น คิดว่าอาจช้าเกินไปหรือไม่ แต่ถ้าทำไม่ใช่แก้แต่ของหมอ ต้องคำนึงถึงพยาบาลด้วย” นางจรรยาวัฒน์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นางจรรยาวัฒน์ กล่าวว่า เห็นใจและเข้าใจปัญหากลุ่มแพทย์ แต่พยาบาลทำงานกับแพทย์ก็ต้องมองถึงมิตินี้ด้วย หลายครั้งที่มีการเยียวยาทั้งสวัสดิการ ค่าตอบแทนของแพทย์ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่อยากให้คำนึงถึงพยาบาลเช่นเดียวกัน อย่าให้เหลื่อมล้ำกันมากเกินไป

“ทุกวันนี้ แม้พยาบาลประสบอุบัติเหตุ อย่างล่าสุดกรณีที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้แค่การเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของสปสช. เป็นเงินชดเชย ไม่เกิน 400,000 บาท ขณะเดียวกัน ทางชมรมและเครือข่ายพยาบาลระดมเงิน บริจาคเงินช่วยเหลือกันเอง ซึ่งโดยหลักแล้ว สธ.ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาพยาบาลเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับทหาร ตำรวจ ซึ่งทราบหรือไม่ พยาบาลผู้เสียชีวิตขณะเดินทางไปส่งผู้ป่วยนั้น มีบุตร 2 คน ที่ได้ต้องได้รับการศึกษา สธ.อาจจะต้องคำนึงการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม” นางจรรยาวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image