คสช.ใจป้ำเปิดทาง 2,700 ชุมชน 5.9 ล้านไร่ รุกป่าอนุรักษ์ อยู่ได้ไม่ผิด พร้อมลุยแจกที่ป่าสงวนฯ อีก 1.2 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมติดตามการปฏิบัติงานคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดหาที่ดินเฉพาะพื้นที่ แม่แจ่มโมเดล จ.เชียงใหม่ โดย พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ทส.กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ…. เพื่อใช้แก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นการที่รัฐได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนด ทั้งนี้หาก พ.ร.บ.อุทยานฯมีผลบังคับใช้ จะให้อำนาจอธิบดีอุทยานฯในการอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2,700 ชุมชน เนื้อที่ 5.9 ล้านไร่ ที่อยู่มาก่อนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิถุนายน 2541 อยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขไม่ขยายพื้นที่เพิ่มและช่วยดูแลรักษาป่า ซึ่งคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในรัฐบาลนี้

 

 

Advertisement

ด้านนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงการพิจารณาจัดที่ทำกิน คสช.ว่า ปัจจัยที่สำคัญต่อแนวทางในการพิจารณา 2 ประการ คือ ช่วงระยะเวลาของการเข้าครอบครองทำกิน และมาตรการการใช้ที่ดินตามการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 หลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐ โดยชุมชนต้องดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ตามที่กำหนดร่วมกัน กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1, 2 ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 โดยวางกรอบมาตรการไว้ 4 ประการ คือ 1.จัดระเบียบการใช้ที่ดินทำกิน และรับรองการอยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวม

 

Advertisement

 

2.กำกับควบคุมจัดการการใช้ที่ดินและป่าไม้ภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุกขยายพื้นที่ 3.ฟื้นฟูสภาพป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม ส่งเสริมราษฎรปลูกป่า 3 อย่าง 4.ใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการชะล้างพังทลาย และกลุ่มที่ 4 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1, 2 หลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ได้วางแผนร่วมกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านประชาคมร่วมออกแบบคัดเลือกพันธุ์ไม้ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า โดยกรมป่าไม้จัดหาพันธุ์ไม้และให้ราษฎรเป็นผู้ดูแลต้นไม้ที่ปลูก และราษฎรใช้ประโยชน์ที่ดินในระหว่างแถวของต้นไม้ได้ โดยราษฎรจะได้รับประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูก และพืชพื้นล่างด้วย

“มาตรการดังกล่าวจะปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีชุดปฏิบัติการ คทช.อำเภอในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจง สร้างความเข้าใจ ให้ราษฎรในพื้นที่ทราบถึงมาตรการดังกล่าว หลังจากนั้นสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ กรมป่าไม้ จะเข้าไปดำเนินการตามมาตรการต่อไป โดยรัฐบาลได้นำร่องในพื้นที่สำคัญ 4 พื้นที่ ได้แก่ นาแห้วโมเดล, แม่แจ่มโมเดล, น่านโมเดล และแม่ฮ่องสอนโมเดล โดยมีรองอธิบดีกรมป่าไม้เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดการนำมาตรการไปปฏิบัติสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง” นายพงศ์บุณย์กล่าว

นายพงศ์บุณย์กล่าวว่า การดำเนินงานการจัดหาที่ดินของ คทช.ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 880 พื้นที่ใน 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 1,275,829-2-24.78 ไร่ ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตแล้ว จำนวน 124 พื้นที่ใน 55 จังหวัด รวมเนื้อที่ 405,185-3-96.41 ไร่ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาการอยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่ป่า ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลจะต้องถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) อ.แม่แจ่ม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวมเนื้อที่ 29,627 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้เลือกให้ อ.แม่แจ่มเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่นๆ ใน จ.เชียงใหม่ ด้วยการผลักดันให้การดำเนินงานภายใต้นโยบาย คทช.สำเร็จสมบูรณ์แบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดระเบียบที่ดิน การใช้ประโยชน์ และการสร้างมูลค่าในที่ดินอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image