สพฉ.เตรียมปรับเกณฑ์ ‘ผู้ป่วยวิกฤต’ ทุกระดับสีความรุนแรงต้องแจ้งเข้าระบบ

ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์สะเทือนใจที่เพจ “ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม” เผยแพร่เรื่องของ น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน อายุ 38 ปี หญิงเคาะห์ร้ายที่ถูกนายคำตัน สิงหนาท อายุ 50 ปี สามีเอาน้ำกรดสาดที่ใบหน้าเพราะความหึงหวง ซึ่งต่อมา น.ส.ช่อลัดดาต้องกัดฟันทนพิษบาดแผลประคองตัวเองให้ ด.ญ.เตชินี หรือน้องเต ลูกสาววัยเพียง 12 ปี พาไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) บางมด แต่แท็กซี่เห็นว่าอาการหนักจึงปรารถนาดีนำส่ง รพ.พระราม 2 ที่ใกล้ที่สุด แต่กลับถูก รพ.พระราม 2 ปฏิเสธการรักษา โดยผลักไสผู้ป่วยให้ขึ้นแท็กซี่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยอาการยังไม่พ้นขีดอันตราย และสุดท้าย น.ส.ช่อลัดดาทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในระหว่างทางนั้น

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า กรณีถูกสาดน้ำกรดนั้น การที่ผู้ป่วยถูกน้ำกรดสาดมาที่บริเวณใบหน้าถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เราไม่เห็นข้อมูลอื่นว่าอาการทางกาย หรือสัญญาณชีพอ่อนลงแค่ไหนถึงเป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่จังหวะนั้นเห็นว่าโรงพยาบาลไม่ได้มีแพทย์เข้ามาแยกความรุนแรง ถ้าเป็นพยาบาลก็ทำได้ แต่ก็ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมถึงเรื่องส่งต่อก็ต้องเป็นความเห็นของแพทย์ว่า การไปโรงพยาบาลอื่นเกิดประโยชน์มากกว่า แล้วต้องไม่เอาเรื่องสิทธิการรักษา เรื่องความสามารถในการจ่ายมาอ้างในการดูแลผู้ป่วย

“ต้องทำให้ผู้ป่วยอาการเสถียรก่อนค่อยย้าย จังหวะนั้นเขาปรึกษากันแค่ไหนไม่รู้ ต้องรอผลสอบสวนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพว่ากระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ อาการผู้ป่วยเป็นอย่างไร ทำไมต้องให้อุ้มออกไป แล้วทำไมขึ้นรถแค่ระยะสั้นๆ คนไข้ถึงไม่ไหว ต้องปั๊มหัวใจคือระยะเวลาใกล้กันมากมันต้องดูออก ต้องดูหลายอย่างประกอบ” นพ.สัญชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าดูไม่ออกครั้งแรกจริงๆ ถือว่าพยาบาล หรือแพทย์ผิดหรือไม่ นพ.สัญชัย กล่าวว่า อันดับแรกสถานพยาบาลเปิดมาก็ระบุแล้วว่าเปิดห้องฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง หรือ แค่ 10 โมงถึงเที่ยง ระบุแล้วต้องมีแพทย์อยู่ตลอดระยะเวลาที่แจ้งเอาไว้ คราวนี้การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องไม่ใช่ประเด็นมาก เพราะทางการแพทย์จะเป็นระบบ 1.วินิจฉัย 2.เฝ้าดู และ 3.ปรับเปลี่ยน เพราะตอนแรกผู้ป่วยมาวินิจฉัยว่าเป็นอย่างนี้ จากนั้นก็เฝ้าดู 15 นาที 20 นาที 30 นาที หากไม่ใช่ก็ปรับเปลี่ยนการวินิจฉัยรักษา อย่างกรณีนี้บอกว่ามาตอนแรกแก้มยุ่ย เนื้อยุ่ยมาเลย ซึ่งน้ำร้อนทำให้แก้มยุ่ยไม่ได้ อย่างเก่งคือ ทำให้ผิวหนังแดงตุ่มน้ำพองขึ้นมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ของอย่างนี้ก็ต้องดูที่ประสบการณ์ของพยาบาลด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอผลสอบสวน แต่ของอย่างนี้ ถ้าสันนิษฐานไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่เป็นธรรม ดูสภาพร่างกายผู้ป่วย ผลการตรวจปอด หลอดลม หลอดอาหารว่าเป็นอย่างไร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงการกรอกข้อมูลการใช้สิทธิตามโครงการยูเซฟ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ฟรี 72 ชั่วโมงแรก นพ.สัญชัย กล่าวว่า สพฉ.จะมีระบบข้อมูลออนไลน์ให้กรอกประวัติคนไข้ เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์สีแดงหรือไม่ ถ้าญาติหรือทีมแพทย์ไม่แน่ใจก็ปรึกษาอาจารย์แพทย์ได้ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ว่าอาการอย่างนี้เข้าเกณฑ์หรือไม่ หรือแม้ว่ารักษาไปแล้วยังไม่แน่ใจก็ร้องขอให้ สพฉ.พิจารณาให้ภายหลังได้ แต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ตัดสินกันหน้างานมากกว่า สพฉ.ไม่ได้ก้าวก่าย แต่เป็นการออกเกณฑ์รับรองเพื่อให้โรงพยาบาลนั้นสามารถใช้เบิกเงินจากกองทุนต่างๆ ได้

เมื่อถามว่า ต้องกรอกข้อมูลผู้ป่วยทุกรายหรือไม่ นพ.สัญชัย กล่าวว่า ตอนนี้โรงพยาบาลกรอกรายละเอียดคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินทุกรายไม่ไหว เพราะบางคนที่มาก็ไม่ได้ฉุกเฉิน ดังนั้นจึงกรอกเฉพาะคนที่มีโอกาสเข้าเกณฑ์ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลบางแห่งกรอกหมด เพื่อให้ระบบบอกเลยเพราะไม่อยากให้มีเรื่อง

เมื่อถามต่อว่า หากไม่กรอกทุกรายถือว่ามีความผิดหรือไม่ นพ.สัญชัย กล่าวว่า กฎหมายตอนนี้ไม่ได้กำหนดให้ต้องกรอกทุกราย แต่ตอนนี้กำลังแก้ไขกฎหมายให้คนไข้สีเหลือง สีแดงทุกรายต้องกรอกข้อมูลเข้ามาในระบบ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรื่องการไม่กรอกข้อมูลก็ยังต้องรอผลสอบสวนอีกครั้ง เพราะว่าบางกรณีถ้าคนไข้มาถึงด้วยอาการหนัก แล้วไม่ยอมกรอกข้อมูล แต่ไปปฏิเสธคนไข้ ก็จะโดนหนักเลย เพราะเราจะดูว่าน้ำกรดที่เข้าไปทำให้การหายใจเขาลำบากหรือไม่ เข้าไปในหลอดลม หลอดอาหารหรือไม่ ซึ่งดูได้ และถ้าไม่แน่ใจก็ห้ามส่งต่ออยู่แล้ว เพราะว่าการส่งต่อไม่ปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image