ไบโอไทยจี้ทีมศก. แก้ปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ พร้อมแถลงเคลื่อนไหว 14 พ.ย.

ภายหลังกรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงข่าวผ่านการไลฟ์วิดีโอ โดยไม่มีการให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยได้ยืนยันว่า การรับยื่นสิทธิบัตรกัญชาจากชาวต่างชาติไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าคลายล็อกกฎหมายกัญชาของประเทศไทย และไม่ส่งผลกระทบต่อนักวิจัยไทย โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่กำลังเดินหน้าตั้งโรงงานสกัดสารกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทุ่มงบ 120 ล้านบาท เพราะกัญชาที่จะมายื่นหากเป็นสารจากธรรมชาติของกัญชาจะยื่นจดไม่ได้ แต่นักวิชาการต่างๆ รวมทั้ง อภ.ยืนยันว่าเป็นสารจากธรรมชาติแต่มีการรับยื่นแล้ว ซึ่งผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ตามมาตรา 9(1) และ (4) เรื่องสรรพคุณการรักษาอีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหาทางออกเรื่องนี้

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า จากคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำให้ไม่สามารถยืนยันได้เลยว่า สรุปแล้วการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับยื่นคำขอสิทธิบัตรจากต่างชาติ ทั้งๆ ที่มีการขอสารที่เป็นต้องห้ามตามกฎหมาย คือ ม.9(1) เนื่องจากพบว่ามีสารจากธรรมชาติซึ่งไม่ควรรับแต่แรก และเมื่อรับแล้วก็ไม่เพิกถอน กลับเข้าสู่กระบวนการ และมีการประกาศโฆษณาสิทธิบัตรไปแล้วอย่างน้อย 8 คำขอสิทธิบัตร โดยเฉพาะคำขอสิทธิบัตร “ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง” ของบริษัท GW Pharma และ Otsuka Pharmaceutical หมายเลขคำขอสิทธิบัตร 1201004672 ระบบ PCT ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศสมาชิกมีข้อตกลงด้านสิทธิบัตร ทั้งนี้ ได้มีการประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 นั้น ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการขอรับสิทธิบัตร “สารสกัดต้นแคนนาบิส (cannabis plant extract)” ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช อันเป็นข้อห้ามตามมาตรา 9(1)

“ประเด็นคือ คำขอตัวนี้ระบุว่าต้องยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และยังระบุกรณีเมื่อสิทธิบัตรได้แล้วจะหมดอายุวันที่ 29 มิถุนายน 2573 แสดงว่าระหว่างนี้ อภ.ก็ไม่สามารถผลิตสารสกัดจากกัญชาได้เลย รวมทั้งนักวิจัยอื่นๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งจริงๆ กรณีนี้ผิดตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสารสกัดจากพืช ซึ่งใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 28(1) เขียนอย่างชัดเจนว่า ‘ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือโดยวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดภายใน 15 วันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง’ แสดงว่ากฎหมายกำหนดอยู่แต่อธิบดีกลับไม่ทำ นี่คือคำถามที่สังคมสงสัยว่าเพราะสาเหตุอะไร” นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ดังนั้น จากความไม่ชัดเจนและความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเสียประโยชน์ ผู้ป่วยต่างๆ เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากสารสกัดจากกัญชา ทางไบโอไทยและเอฟทีเอ วอช รวมทั้งศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จะประชุมหารือเกี่ยวกับท่าทีเรื่องนี้ พร้อมทั้งจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น.ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยจะเปิดขั้นตอนการรับสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรหากไม่มีการปฏิรูป หรือจัดการให้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องนี้รัฐบาลควรเข้ามาดำเนินการและหาทางออกได้แล้ว เพราะนี่เป็นเรื่องของทั้งประเทศ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยื่นเรื่องให้รัฐบาลแก้ปัญหาแทนกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ นายวิฑูรย์กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการ โดยทีมเศรษฐกิจชุดนี้ ทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจากนโยบาย 4.0 วางอยู่บนความหลากหลายชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสมุนไพรเป็นการต่อยอดไปสู่การวิจัยและพัฒนา ในทางปฏิบัติกลับไม่ใช่ เพราะทีมเศรษฐกิจดูแลกระทรวงพาณิชย์ แต่กลับเพิกเฉย ไม่แก้ปัญหาที่จะขัดขวางการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม จึงไม่แน่ใจว่าทั้งหมดที่พูดเป็นเพียงวาทกรรม หรือเป็นฐานให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนหรือไม่ แบบนี้ทำลายความมั่นคงโอกาสในการพัฒนาประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image