แพทย์ยันยิ่งชกยิ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ จี้รัฐแก้ ‘พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542’ ปรับกติกาใหม่

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี กล่าวถึงกรณี “น้องเล็ก” หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก อายุ 13 ปี นักมวยเด็กถูกน็อกระหว่างขึ้นชกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ว่า มวยเป็นกีฬาปะทะ เด็กที่ชกมวยจะมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการบาดเจ็บ ที่สำคัญมีผลการวิจัยชัดเจนว่า คนที่ชกมวยสมองจะเสื่อมก่อนวัย ความจำลดลง สามารถนำไปสู่ความบกพร่องทางปัญญา ซึ่งส่งผลต่อการเรียน และการดำรงชีวิตในอนาคต

“ไม่มีอายุใดที่จะปลอดภัยต่อการถูกชกที่ศีรษะ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะสมองมนุษย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 มีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กีฬามวย พ.ศ.2542 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดให้กีฬามวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย แต่ถูก สนช.ตีกลับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมภายใน 30 วัน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. … นั้น มีสาระสำคัญคือ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ชกมวยเด็ดขาด และในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ที่ให้ชกมวยได้จะต้องมีการดำเนินการวางแนวทาง ระเบียบ กฎ กติกาใหม่ไม่ให้เป็นการกีฬาที่รุนแรง เช่น ไม่ให้ชกที่ศรีษะ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ดูเหมือนแนวทางใหม่จะขัดกับวิถีมวยไทย รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนนี้อาจจะขัดแย้งกับวิถีมวยไทยบ้าง แต่ผลวิจัยก็ชี้ชัดแล้วว่ายิ่งชกมวยมากยิ่งมีปัญหาต่อสุขภาพ หากจะให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีชกมวย ต้องทำให้เป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่น ที่มีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ ต้องไม่เป็นอาชีพ ไม่ทดแทนคุณ ไม่ทารุณกรรม และไม่เป็นการพนัน ควรฝึกมวยในเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพให้เป็นกีฬาแบบไม่ปะทะ (Non contact Sport) โดยปรับเปลี่ยนกฎกติกาและหาอุปกรณ์รวมทั้งมาตรการต่างๆ จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาลดผลกระทบต่อสมอง และมีการดูแลนักมวยหลังหยุดอย่างเหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image