ลอยกระทง “ยุคโลกร้อน” ลอยเสร็จ “เก็บกลับบ้านด้วย” อย่าสร้างภาระให้ใคร

วันที่ 20 พฤศจิกายน ผศ.จิรพล สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอดีตอาจารย์ภาควิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเข้าใกล้เทศกาลลอยกระทง มีประชาชนสอบถามเข้ามามากว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องปริมาณขยะ และขยะตกค้างที่ยังไม่สามารถจัดการได้ เราควรที่จะมีกิจกรรมลอยกระทงกันอีกหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า ลอยกระทงนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยมากเกินกว่าที่จะบอกว่าไม่ควรจัดเสียแล้ว แต่การจัดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ก็จะต้องจัดแบบไม่สร้างภาระให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่า ลอยกระทงไปด้วยความอิ่มอกอิ่มใจแล้ว คนที่อยู่ข้างหลังยากลำบาก สัตว์น้ำตาย ระบบนิเวศน์พัง

ผศ.จิรพล สินธุนาวา

“คำว่าจัดการให้เข้ากับยุคสมัยนั้น ไม่ได้หมายความว่า กระทงจะต้องเป็นกระทงไฮเทค แสง สี เสียง แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่า ยุคสมัยนี้ เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เพราะโลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จากการประกอบกิจกรรมของทุกคนในโลก การทิ้งขยะ การจัดการขยะก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สร้างปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น ผมจึงอยากเสนอว่า การทำกิจกรรมในประเพณีลอยกระทง จะต้อง 1.ทำให้เล็กลง ไม่เห็นด้วยกับการแข่งขันกันทำกระทงใหญ่แบบมีคนลงไปนั่งอยู่ในกระทงได้ แล้วเอาไปลอย อันนี้จะสร้างภาระให้กับแม่น้ำลำคลองมาก 2.ให้มีความเป็นหมู่คณะ เช่น กระทงเล็กๆ จัดการง่ายๆ 1 ใบ อธิษฐานที่บ้านก่อนออกมาลอย แล้ว ลอย ก็ถือว่าบรรลุ การลอยกระทงเช่นเดียวกัน 3.เลือกลอยในที่ ที่เก็บง่าย เช่น ในสระ ในบึงแถวบ้าน ในสระน้ำโรงแรม เป็นต้น”ผศ.จิรพล กล่าว

Advertisement

 

ผศ.จิรพล กล่าวว่า ข้อที่ 4.เสนอว่า ลอยกระทงไปแล้ว ก็ควรเก็บกระทงนั้นขึ้นมาจัดการเองได้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของใครในการจัดเก็บ ซึ่ง ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอไปว่า ควรหาเชือกหรือเอ็นผูกกระทงเอาไว้ เมื่อลอยไป จนธูปเทียนดับหมดแล้ว ก็ดึงกระทงกลับมา นำไปทิ้ง ไม่ปล่อยให้ขยะกระทงเป็นภาระของใคร เรื่องนี้มีคนถามว่า ลอยกระทงไปแล้ว เหมือนลอยทุกข์ลอยโศกออกไป แต่หากดึงกระทงกลับเข้ามาอีก จะเป็นการดึงเอาความทุกข์กลับคืนมาอีกหรือไม่ ตนบอกว่า การลอยทุกข์ ลอยโศกนั้นจบไปตั้งแต่ธูปเทียนดับแล้ว การดึงกระทงกลับจึงไม่ใช่ดึงเอาความทุกข์กลับมา แต่เป็นการลดภาระให้สังคม

“หรือไม่ เราก็ออกอุบายการเก็บกระทงกลับมา โดยการใส่เหรียญลงไปบอกเด็กที่คอยเก็บกระทงเลยว่า กระทงพี่มีเหรียญอยู่ พี่ยกให้นะ แต่ต้องคอยดูแลกระทงให้พี่ด้วย พอธูปเทียนดับหมด เอากระทงกลับมาให้พี่ เป็นต้น แบบนี้ ก็จะทำให้ปริมาณกระทง ที่ลอยคาอยู่ในแม่น้ำลำคลองลดลงเยอะเลย เราต้องทำแบบนี้แล้วนะครับ เพราะวันนี้ กับเมื่อ 700 ปีก่อน เหตุการณ์ไม่เหมือนกันแล้ว เราต้องช่วยกันดูแลธรรมชาติ ระบบนิเวศ ไม่ให้มันเลวร้ายไปกว่านี้” ผศ.จิรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image