ศูนย์วิจัยสุราฯ พบนักดื่ม 7 ล้านคนเป็นลูกค้าระยะยาว อีก  95% รู้โทษของเหล้า

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นจูรี พาร์ค ในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 10 “สิบปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 : ประเทศไทยได้อะไร” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงาน ศวส. กล่าวว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า มีนักดื่มรวมกว่า 16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักดื่มประจำเกือบ 7 ล้านคน นับเป็นลูกค้าระยะยาว โดยเฉพาะเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีนักดื่มถึงร้อยละ 14 ซึ่งการดื่มสุราไม่เพียงก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพ ยังทำร้ายผู้บริสุทธิ์และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล ที่ผ่านมาประชาชน คือ ผู้สูญเสีย แต่ไร้ความรับผิดชอบจากบริษัทสุรา อีกทั้งบริษัทสุรายังพยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และพยายามที่จะแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“จากการสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติของประชาชนไทยต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 เห็นว่าสุราเป็นสิ่งให้โทษต่อสังคมไทย และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎระเบียบ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่ง 10 ปีหลังบังคับใช้กฎหมาย พบว่า จุดจำหน่ายลดลง พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง พื้นที่ปลอดเหล้าจำนวนเพิ่มขึ้น วันและเวลาที่จำกัดการเข้าถึงเพิ่มมากขึ้น กว่าร้อยละ 80 เห็นว่าไม่ควรปรับแก้กฎหมาย และควรเข้มงวดกวดขัน ควบคุมการโฆษณาการทำการตลาดการขายสุราให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป” ศ.พญ.สาวิตรีกล่าว

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2547 ที่ทรงห่วงเด็กและเยาวชนในปัญหายาเสพติด โดยมีการประชุมจัดทำร่างกฎหมายครั้งแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 จนกระทั่งออกมาเป็นกฎหมายในปี 2551 ทำให้สามารถผลักดันมาตรการและดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ห้ามดื่มบนทางเท้า ห้ามขายและดื่มในโรงงาน ในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในสวนสาธารณะ การแสดงรูปแบบข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและนโยบาย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image