คสรท.แฉ งบกองทุนประกันสังคมมีปัญหา! ใช้เงิน 8 พันล. ขัดกม. โร่ร้องป.ป.ช.หาคนรับผิดชอบ!!

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่โรงแรมนารา แจ้งวัฒนะ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคสรท. นายไพโรจน์ พลเพชร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย ทนายความฝ่ายกฎหมาย คสรท. ร่วมแถลงข่าว “จากการจ่ายตามค่า HA สู่การจ่ายตามคุณภาพของสถานพยาบาล ใครได้ใครเสีย” โดย นายชาลี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เนื่องจากมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมที่เรียกว่า จ่ายตามค่า HA ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม โดยหากโรงพยาบาลใดเป็นไปตามมาตรฐานค่า HA จะได้รับเงินเพิ่มตามที่กรรมการประกันสังคมกำหนด ซึ่งการจ่ายลักษณะนี้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ตามหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2546

“ปัญหาคือ ตามเกณฑ์ดังกล่าวสำนักงานประกันสังคม หรือสปส. กลับไปให้เงินแก่โรงพยาบาลเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 63 ระบุว่า ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่จากการทำงาน ได้แก่ ค่าวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่นที่จำเป็น เพิ่มขึ้นอีก 80 บาท ซึ่งคสรท.มองว่าเรื่องนี้เป็นการจ่ายซ้ำซ้อน เพราะสปส.มีระบบเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนตกหัวละ 1,500 บาทต่อคนต่อปี ตามจำนวนผู้ประกันตนในโรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งรวมสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แต่กลับไปจ่ายให้เพิ่มเติมอีก โดยการกระทำดังกล่าวจนถึงปี 2560 ต้องจ่ายเงินไปแล้วกว่า 8-9 พันล้านบาทให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชน ทางคสรท.จึงดำเนินการฟ้องร้องเมื่อปี 2557 แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะมองว่าเราไม่ใช่ผู้เสียหายหลัก จึงมีการยื่นอุทธรณ์ จนศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณา” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวอีกว่า ปรากฏว่า เมื่อมีการฟ้องร้อง ทางสปส.จึงยกเลิกประกาศเก่า และออกประกาศใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1   มกราคม 2561  แต่ก็พบว่า หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า ประกาศใหม่ยังคงจ่ายเงินในส่วนนี้เหมือนเดิม  ทางคสรท. จึงมองว่า เรื่องนี้ถือว่า สปส.มีความผิดชัดเจน เนื่องจากยอมยกเลิกเกณฑ์เก่า แสดงว่ารับผิดใช่หรือไม่ และงบประมาณที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ให้แก่โรงพยาบาลเอกชน 8-9 พันล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งทางคสรท. จะมีการทวงถามไปยัง สปส.  และจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  ว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือว่า สปส.ใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน และจำเป็นต้องหาผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องคืนเงินทั้งหมดเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตนทุกคน เนื่องจากอย่าลืมว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาและกังวลว่างบในส่วนกองทุนชราภาพจะหมดลงในปี 2586 หากสปส.ยังใช้จ่ายเงินแบบที่ผู้ประกันตนไม่ทราบเรื่อง ขาดการมีส่วนร่วม ยิ่งกรณีนี้ก็ชัดเจนว่า เงินที่ไม่ควรหายไปก็กลับต้องให้โรงพยาบาลเอกชนอีก

นายชาลี กล่าวอีกว่า ที่สำคัญแม้จะมีการยกเลิกเกณฑ์เก่า แต่เกณฑ์ใหม่ก็ไม่แตกต่าง เพราะ 1.แม้ยกเลิกประกาศฉบับเดิม แต่ฉบับใหม่กลับกำหนดเกณฑ์ให้มีการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแก่โรงพยาบาลที่อยู่ในข้อตกลงของสปส. โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินใหม่ให้แก่รพ. ใน 3 ลักษณะ คือ 1.เหมาจ่ายตามจำนวนผ้ประกันตนที่มีชื่อลงทะเบียนตามสถานพยาบาลแห่งนั้นๆ ในอัตรา 1,500 บาทต่อคนต่อปี 2.จ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 447 บาท สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีภาระเสี่ยงตามอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ 3.สถานพยาบาลที่การให้บริการมีคุณภาพและผลลัพธ์คุณภาพตรงตามตัวชี้วัดที่กำหนดในอัตราไม่เกิน 60 บาทต่อคนต่อปี

Advertisement

“ โดยทั้ง 3 ลักษณะก็จะเห็นชัดว่า การจ่ายเงินในลักษณะที่ 3 เป็นการจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาโดยตรงต่อตัวผู้ประกันตน แบบนี้เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่โรงพยาบาลหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญการออกหลักเกณฑ์ใหม่ก็ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์และการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าว ขณะเดียวกันยังเป็ฯการนำเงินของผู้ประกันตนไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลโดยที่มิใช่เพื่อการรักษาพยาบาล เพราะพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ระบุในมาตรา 63 ว่า ค่าบริการอื่นที่จำเป็น ย่อมสามารถตีความตามเจตนารมณ์ว่า หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่จ่ายแล้วจะส่งผลต่อการรักษาของผู้ประกันตน คือ ไม่หายจากโรค หรืออาจทำให้ผู้ประกันตนเสียชีวิต แต่การออกประกาศใหม่ของบอร์ดสปส. โดยเฉพาะลักษณะที่ 3 ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์เลย” นายชาลี กล่ว

นายชาลี กล่าวอีกว่า ประกาศฉบับนี้จึงทำให้สปส. ต้องจ่ายเงินให้กับรพ.ในความตกลงปีละหลายร้อยล้านบาท เป็นการจ่ายซ้ำซ้อน แม้จะเป็นประกาศใหม่แต่ก็ไม่ต่างจากประกาศเดิม จ่ายโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้จ่ายได้ เพราะพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ระบุไว้ในมาตรา 9 วรรค 3 ว่า คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ คือ ต้องวางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน  ดังนั้น บอร์ดสปส.จึงไม่มีอำนาจใช้จ่ายเงิน หากจะจ่ายต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน  แบบนี้ถือว่าเป็นการออกประกาศที่มิชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บประกันสังคมฯ จึงต้องเพิกถอนประกาศนี้เสีย และต้องหาผู้รับผิดชอบกรณีเงินที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 2552 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image