อาจารย์มข. ขออย่าเหมารวม ‘บัตรคนจน-30 บ.รักษาโรค’ เหตุ รพ.ไม่เคยเก็บเงินคนไม่มี!!

จากกรณีมีการเสวนาวิชาการ“การสร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเลือกตั้งปี 62” เพื่อเปิดวิสัยทัศน์และข้อคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการ ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  โดยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นตอนหนึ่ง ถึงการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ทุกมาตรการที่จะเข้ามาสนับสนุนระบบสวัสดิการ ยกตัวอย่างการมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตอบโจทย์ระบบสวัสดิการได้หรือไม่ หลายคนมองว่าไม่ใช่ แต่หลักของระบบนี้ต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่รัฐบาลอยากให้ การบริการทั้งหลายต้องมีถ้วนหน้า ทุกคนมีสิทธิทุกคนต้องได้รับนั้น ปรากฎว่าเกิดคำถามว่าสรุปแล้วบัตรคนจบตอบโจทย์สวัสดิการอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า  อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จริงๆ ไม่ควรเรียกว่าบัตรคนจนด้วยซ้ำ และบัตรคนจนก็ไม่ควรนำมารวมกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง หรือที่รู้จักกันง่ายๆว่า สิทธิ 30 บาทรักษาโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า คนไทยทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากบัตรทอง หรือ 30 บาทโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลพื้นฐาน เรียกว่า เป็นหลักสากลที่ปฏิบัติกัน ดังนั้น บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการอะไรก็ตาม ไม่ควรนำมารวมกับสิทธิรักษาฟรี

“ผมมองว่าหากจะให้ขยายความ บัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น แค่ต้องการแยกสถานะของประชาชนออกมากลุ่มหนึ่งหรือไม่ ว่า กลุ่มนี้นะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีๆไปเลย แต่ในบริบทการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาท ก็ไม่ได้เก็บอยู่แล้ว ใครมีจ่ายก็จ่ายได้ ใครไม่มี ทางโรงพยาบาลไม่ได้บังคับจ่าย ที่สำคัญจะเห็นว่าในโรงพยาบาลจะมีกล่องหรือตู้บริจาคไว้สำหรับใครพอมี และอยากบริจาคก็สามารถช่วยทางโรงพยาบาลได้ เพราะสิทธิ 30 บาทไม่ได้แบ่งแยกว่าใครจนใครรวย เขาให้สิทธิอัตโนมัติสำหรับการรักษาพยาบาล เรียกว่าเกิดมาจะมีจะไม่มี ก็ต้องได้สิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอีกว่า การได้สิทธิ 30 บาทนั้น จะได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดมาจนกระทั่งเสียชีวิต เพียงแต่ว่า หากโตขึ้นมาและทำงานในระบบก็จะถูกให้เข้าสู่สิทธิประกันสังคม หรือหากเป็นข้าราชการก็จะเข้าสู่สิทธิข้าราชการ แต่เมื่อเกษียณ หรือลาออกจากการทำงานไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ก็จะกลับเข้าสู่สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาทโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ไม่ว่าจะอย่างไร หากไม่ได้อยู่ในสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการข้าราชการก็ย่อมต้องเข้าสู่สิทธิ 30 บาทอยู่ดี ดังนั้น ตนมองว่าบัตรสวัสดิการของรัฐที่ทางรัฐบาลชูไว้นั้น หากเป็นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่กรณีหากจะไปรวมว่าให้สิทธิการรักษาพยาบาลตนว่า ซ้ำซ้อน เพราะไม่ได้แตกต่างจากบัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาทเลย

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า จริงๆ บัตร 30 บาท หรือบัตรทองก็ไม่ต้องใช้บัตรแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เมื่อเจ็บป่วย ไปโรงพยาบาลตามสิทธิแค่แจ้งเลขบัตรประชาชนก็จะทราบแล้วว่า มีิสิทธิการรักษาอะไร ส่วนใครไม่ทราบก็โทรสายด่วนสปสช. ได้ 1330 ตนจึงมองว่า จริงๆ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเรียกว่า รองรับไว้หมดแล้ว ดังนั้น บัตรสวัสดิการของรัฐในกรณีนี้จึงไม่ได้แตกต่าง อาจแค่ต้องการแยกสถานะมากกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image