ก.แรงงาน ลุยอัพสกิล ป.ตรี เพิ่มโอกาสมีงานทำ ปูพรมฝึกอบรมต่อเนื่องกว่า20สาขา

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มีนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาให้กับผู้จบปริญญาตรีที่ตกงาน โดยจัดตั้งศูนย์บริการด้านแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 11 แห่ง และเปิดให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ดังกล่าวเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย 5 ภารกิจ คือ มุ่งช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีให้มีงานทำตามความสามารถ ให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงาน เพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะเปลี่ยนสายอาชีพ (Up-Skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ สามารถหางานทำได้ตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีหลักสูตรอบรมระยะสั้น 18-60 ชั่วโมง และระยะยาว 60 วันขึ้นไป กว่า 20 หลักสูตร ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ทำให้มีผู้ได้งานทำแล้วกว่า 2.4 หมื่นคน มีการแนะนำพัฒนาทักษะฝีมือกว่า 2,000 คน

Advertisement

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดี กพร. กล่าวว่า การดำเนินงานของ กพร.ได้ฝึกทักษะให้กับผู้จบปริญญาตรีไปแล้วกว่า 2,100 คน โดยมีหลักสูตรที่ได้รับความสนใจ อาทิ การฝึกด้านภาษาต่างประเทศ การขายสินค้าออนไลน์ การเป็นหัวหน้างาน การบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร และธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบูรณาการร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ ป้อนสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคม และสถานประกอบกิจการที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากความร่วมมือส่งผลให้ผู้ที่ผ่านการฝึกมีงานทำทุกคน นอกจากนี้ ยังฝึกอบรมสาขาการท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานสูง เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย ตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก สาขาการบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม และภาษาต่างประเทศ หลักสูตรด้านช่าง การประยุกต์ใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม ช่างควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ 2 มิติ เทคนิคการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อ กพร.ดำเนินการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้แล้ว จะส่งรายชื่อผู้ผ่านการอบรมให้กับกรมการจัดหางาน (กกจ.) เพื่อจับคู่งานให้กับผู้แจ้งความประสงค ์ให้จัดหางานให้ทำด้วย

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2562 กพร.มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ที่จบปริญญาตรีจะให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากผู้จบการศึกษาใหม่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มเจน Z มีความสนใจประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคเองมีความต้องการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้นส่วนสาขาที่ตลาดมีความต้องการรับคนเข้าทำงาน เช่น สาขาการบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร ได้วางแผนดำเนินการอีก 400 คน สาขาด้านโลจิสติกส์ มีแผนดำเนินการอีก 300 คน โดยบูรณาการร่วมกับ รวมถึงสาขาที่เป็นกลุ่มทักษะด้านช่าง จะยังคงดำเนินการตามความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป และยังมีอีกหลายสาขาที่ดำเนินการฝึก

Advertisement

“ผู้ที่จบปริญญาตรี สามารถเข้าฝึกได้ทุกสาขา ที่ กพร. เปิดการฝึกอบรม และสมัครฝึกอบรมได้ทั่วประเทศ และยังมีแผนบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏอีสานเหนือรวม 12 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการผลิตด้วย การเพิ่มเติมทักษะและองค์ความรู้ จะทำให้มีโอกาสมีงานทำมากขึ้น นายจ้างจะพอใจที่ได้คนเก่ง นักศึกษาก็จะแฮปปี้ ที่มีงานทำ” นายสุทธิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image