‘หมอล็อต’ เผย อาการหมีควาย ‘ปลอดภัย-สดใสเริงร่า’ เร่งประสานพื้นที่ปล่อยคืนสู่ป่า

สำหรับความคืบหน้ากรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งเขาใหญ่ เข้าช่วยเหลือหมีควายวัยรุ่นกำลังปีนป่ายขึ้นไปหลบอยู่บนระเบียงคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งตั้งอยู่หลังวัดกุดกล้า (บัววรรณาราม) บ้านกุดกล้า ถ.ธนะรัชต์ ช่วง กม.21 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือหมีควายจนได้รับความปลอดภัย

“หมอล๊อต” เล่า นาทีระทึกหมีปีนตึก 6 ชั้น ชาวบ้านลุ้นทั้งคืน กลัวตก สุดท้ายยิงยาสลบช่วยได้(ชมคลิป)
คาด ‘หมีควาย’ หิว ปีนคอนโดเขาใหญ่ หาอาหาร

หมีควาย-เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่วางแผนช่วยเหลือหมีควายวัยรุ่นลงมาพื้นล่างจนได้รับความปลอดภัยแล้ว เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) ก็เร่งประสานสัตวแพทย์เข้ามาตรวจอาการอย่างละเอียดและนำหมีพักไว้รอดูอาการภายในพื้นที่อุทยานฯ ล่าสุด ได้รับแจ้งจากทีมสัตวแพทย์ว่าหมีควายปลอดภัยดี สุขภาพแข็งแรงและไม่มีอาการใดน่าเป็นห่วง โดยการเข้าช่วยเหลือพบหมีไม่ได้บาดเจ็บและบอบช้ำ แต่ตอนนี้หมีมีอาการหงุดหงิดเล็กน้อยตามนิสัยสัตว์ป่า โดยเฉพาะช่วงกลางวัน หมีควายจะหงุดหงิดและมีอาการซึมเล็กน้อย ส่วนช่วงกลางคืนจะร่าเริง สดใส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรบกวนหมีควายเพื่อรอดูอาการ ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างประสานกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้าใหญ่เพื่อกำหนดปล่อยหมีป่าเข้าพื้นที่ คาดอีกไม่นานนี้

Advertisement

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า การเข้าช่วยเหลือหมีควายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว เช่น ทีมกู้ภัย มูลนิธิ ชุดกู้ภัยกรมอุทยานฯ ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือและวางแผนช่วยเหลือเป็นขั้นตอน เพื่อป้องกันหมีผลัดตกจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนการที่ได้รับแจ้งเหตุช่วงกลางดึกและเข้าช่วยเหลือในช่วงเช้า เป็นการปฏิบัติตามแผนช่วยเหลือ ไม่ได้ช่วยล่าช้า ขณะที่การปล่อยหมีควายเข้าสู่พื้นที่ป่า จะต้องกำหนดบริเวณหรือจุดปล่อยให้หมีกลับเข้าป่า ให้หมีได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ โดยต้องมีแหล่งน้ำและอาหารอุดมสมบูรณ์ มีพืชและสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับสัตว์ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติแล้ว หมีจะต้องไม่หนีออกมาจากพื้นที่อีก เป็นหลักสำคัญในการช่วยเหลือสัตว์ผลัดหลง โดยจุดปล่อยหมีต้องห่างไกลจากชุมชนหรือบ้านเรือนประชาชน รวมถึงไม่มีสิ่งดึงดูดให้หมีออกมายังพื้นที่ภายนอกอีก

นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต”

นสพ.ภัทรพล กล่าวถึงข้อแนะสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชาทั่วไป หากมีกรณีลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น ว่า อันดับแรกไม่ต้องตกใจหรือกังวล หากพบเห็นสัตว์ป่าผลัดหลง ส่วนกรณีหมีควายปีนป่ายคอนโดฯ นี้ เป็นเรื่องความซุกซนของหมีวัยรุ่น เพราะหมีเพิ่งหย่านมและแยกตัวออกจากแม่ หมีจึงอยากจะเรียนรู้ ซึ่งธรรมชาติของหมีควายมีความแสนรู้อยู่แล้ว กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากหมีเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการดมกลิ่นสูงกว่าสุนัขกว่า 5 เท่า ดังนั้น เมื่อได้กลิ่นแปลกใหม่ กลิ่นอาหาร หมีก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นและออกตามหากลิ่นนั้น ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวไม่ต้องตกใจ ประเด็นต่อมา เมื่อพบเห็นสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ให้รีบแจ้งหน้าที่ทันที หรือโทรสายด่วน 1362 เพื่อจะได้จัดทีมช่วยเหลือ เร่งติดตามร่องรอย หาวิธีจับสัตว์คืนสู่ป่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

“สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดที่สุดจากกรณีหมีควายปีนป่ายคอนโดฯ คือ ปัญหาขยะและสุขอนามัย ซึ่งสาเหตุมาจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่เหมาะสม จึงดึงดูดให้สัตว์ป่าเหล่านี้ออกจากพื้นที่เพื่อตามหากลิ่น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ หากนักท่องเที่ยวทิ้งขยะเรี่ยราด ไม่เป็นที่ไม่เป็นทาง สัตว์ป่า โดยเฉพาะหมีที่มีสัมผัสทางกลิ่นดีมาก จึงออกมาจากป่า ทั้งที่อาหารของหมีโดยธรรมชาติสมบูรณ์อยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักถึง รวมถึงการใช้ภาชนะย่อยสลายง่าย ปลอดพลาสติกจะช่วยได้มาก นอกจากช่วยสัตว์ป่าออกตามหากลิ่นแล้ว ยังช่วยอุทยานฯ กำจัดขยะและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ป่าด้วย หรือจะดีมาก ถ้านักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากหิ้วพลาสติกเข้าพื้นที่อุทยานฯ เป็นหิ้วปิ่นโตแทน” นสพ.ภัทรพล กล่าว

นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่หมีออกมากจากพื้นที่ได้ไกลมากถึงขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าหมีรู้สึกได้รับความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนไม่มีผู้ใดทำร้ายสัตว์ หมีจึงออกห่างป่าจากพื้นที่เรื่อยๆ และซุกซนตามประสา ส่วนนิสัยตามปกติของหมีไม่ได้เป็นสัตว์ที่ทำร้ายคนก่อน ยกเว้นเมื่อหมีรู้สึกไม่ได้รับความปลอดภัยและมีสัญชาตญาณว่าจะได้รับอันตราย หลายครั้งที่มีข่าวหมีทำร้ายคน ต้องยอมรับความจริงว่า คนเข้าพื้นที่รบกวนหมีก่อน ส่วนใหญ่เข้าไปยังพื้นที่ปิด พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะตอนกลางที่หมีกำลังพักผ่อน บางครั้งเกิดการเผชิญหน้า หมีมีอาการตกใจ ประชาชนจึงถูกสัตว์ทำร้าย

“ดังนั้น ประชาชนต้องให้ความเป็นธรรมกับหมีด้วยว่า หมีไม่ได้ทำร้ายคนก่อน แต่ส่วนใหญ่คนเข้าไปหาหมีเองทั้งสิ้น โดยที่ผ่านมาสถิติการได้รับแจ้งสัตว์ป่าผ่านทางสายด่วน 1362 พบว่า สถิติการได้รับแจ้งเหตุสัตว์ป่าผลัดหลง พบเห็นสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งเหตุจำนวนมาก” นสพ.ภัทรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image