รู้ไว้..เพื่อความปลอดภัย  ข้อแนะนำก่อน ‘ศัลยกรรมเต้านม’

จากกรณีที่ทนายความพาสาวผ่าตัดเสริมหน้าอก เข้าร้องกองบังคับการปราบปราม แจ้งจับคลินิกดังเมืองปทุมธานี หลังพบศัลยกรรมจนนมเน่า หนำซ้ำหมอผ่าตัดไม่ใช่แพทย์ ซึ่งได้ยื่นเรื่องร้องต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ตรวจสอบ โดยมอบอำนาจทางกฎหมายให้กับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ปทุมธานีดำเนินการไปนั้น

ประเด็นข้อกฎหมายก็ต้องดำเนินการทางคดีต่อไป แต่ในมุมของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมหน้าอกก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลายคนที่อยากทำ  แต่ก็กังวลว่า จะปลอดภัยหรือไม่

เรื่องนี้มีคำตอบจาก ผศ.นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า  ก่อนจะทำศัลยกรรมต้องเลือกอยู่ 2 อย่าง   คือ 1. เลือกแพทย์ และ2.เลือกสถานพยาบาล  โดยข้อแรก คือ การเลือกแพทย์  เป็นข้อที่สำคัญมากถึงร้อยละ 80 เพราะหากเลือกถูก ความเสี่ยงที่จะได้รับความผิดพลาดแทบไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยความผิดพลาดที่เกิดก็อาจเป็นทรงไม่สวย หรือพบรอยรั่ว แตก ซึ่งจะแก้ไขได้ โดยการเลือกแพทย์ หากเป็นแพทย์ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางนี้โดยตรง ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น  เพราะแพทย์ที่ไม่ได้จบโดยตรงก็มีเยอะ ดังนั้น ต้องเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง อย่างหลักๆ ต้องจบศัลยแพทย์ตกแต่ง หากใช่ก็ถือว่าปลอดภัย

“ต้องถามหมอตรงๆ เลยว่า จบด้านศัลยแพทย์ตกแต่งหรือไม่ ซึ่งการเรียนด้านนี้ต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มจากหมอทั่วไปอีก 5 ปี ซึ่งผู้ที่มีความรู้ตรงนี้จะรู้วิธีการผ่าตัด รู้จักการใช้วัสดุ รู้จักการห้ามเลือด การป้องกันการติดเชื้อ และจะมีข้อมูลอัพเดตจากต่างประเทศอยู่เสมอ ซึ่งหากเลือกหมอดีก็จะนำไปสู่การเลือกในข้อที่ 2 คือ การเลือกสถานพยาบาล ตรงนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อเลือกหมอดีก็จะมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะสถานพยาบาล หรือคลินิกในการทำก็จะผ่านมาตรฐานสถานพยาบาลของทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ด้วย” ผศ.นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว

Advertisement

การเลือกแพทย์ นอกจากต้องทราบว่าเรียนจบมาโดยตรงแล้ว สามารถตรวจประวัติยืนยันได้ผ่านทางสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย หรือเว็บไซต์  https://www.plasticsurgery.or.th/   หรือสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย  http://www.surgery.or.th และหากจะตรวจสอบว่า สถานพยาบาลผ่านมาตรฐานของ สบส.หรือไม่ ก็เข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสบส.  http://hss.moph.go.th/ หรือโทรสายด่วน สบส.   โทร 02-193-7000

ทั้งนี้ เมื่อมีการเลือกหมอ เลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานแล้ว ทางแพทย์ผู้ทำก็จะมีการพูดคุยกับคนไข้ว่า จะดำเนินการอย่างไร และจะเลือกทรงเต้านมอะไร ทรงกลม ทรงหยดน้ำ ปริมาณที่ใช้ควรเท่าไหร่  และประเมินว่า จะผ่าแบบมีแผลรักแร้ หรือราวนม จากนั้นก็เข้าสู่การผ่าตัด เริ่มจากดมยาสลบ ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อเครื่องมือต่างๆ  สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ ช่วงการผ่าตัดการลงมีด ต้องมีการสร้างโพรงเพื่อใส่ทรงนมเข้าไป ตรงนี้หากเป็นผู้เชี่ยวชาญจะผ่าโดยแทบไม่มีเลือดออกเลย หรือไม่มีเลยในแพทย์ที่เชี่ยวชาญและจบการศึกษามาโดยตรง เพราะขั้นตอนนี้หากมีเลือดออก ความเสี่ยงในการติดเชื้อ แผลแยก เกิดพังผืดมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น ต้องเลือกแพทย์และสถานพยาบาลให้เหมาะสม ซึ่งการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ  1 ชั่วโมงครึ่ง และนอนพักฟื้นประมาณ 1 คืนก็กลับบ้านได้ ซึ่งจะมีวิธีแนะนำการปฏิบัติตัวภายหลังการผ่าตัดเต้านมด้วย

เมื่อถามว่าบางคนใช้วิธีฉีดไขมันเต้านม ถือว่าเสี่ยงหรือไม่ กรรมการสมาคมฯ กล่าวว่า การฉีดเต้านมเพิ่มไม่มากประมาณ 10 ซีซี แพทย์นิยมทำเฉพาะจำเป็นอย่างไปเติมเต็มบางส่วนเท่านั้น แต่จริงๆก็ไม่แนะนำ ยิ่งไม่ใช่แพทย์เชี่ยวชาญ ยิ่งมีปัญหา เนื่องจากหากฉีดเข้าไปก็จะแทรกซึมไปทั่ว การจะแก้ไขก็ค่อนข้างยาก  ทางที่ดีที่สุดก่อนทำศัลยกรรมต้องศึกษาข้อมูลมากๆ และเลือกแพทย์ และสถานพยาบาลดีๆด้วย

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image