กรมการแพทย์ เตือนผู้สูงวัยเสี่ยงสำลักอาหาร แนะวิธีป้องกันง่ายๆ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณี ลุงวัย 66 ปีกินเป็ดย่างติดคอเสียชีวิตกลางห้างดัง ว่า ผู้สูงอายุต้องระวังมากในการรับประทานอาหาร เนื่องจากการกลืน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มดังกล่าว เพราะว่าเมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อ ระบบอวัยวะต่างๆ ก็จะเสื่อมลง การทำงานอย่างการกลืนอาหาร หรือการกวาดอาหารภายในปากลงคอก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถสำรองการกลืนในผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น กลไกในการกลืนในผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะช่องปาก ผู้สูงอายุไม่มีฟันและกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ใช้เวลาในการบดเคี้ยวอาหารเพิ่มขึ้น กำลังและการประสานการทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้กระบวนการเตรียมอาหารและการส่งผ่านอาหารใช้เวลานานขึ้นและประสิทธิภาพลดลง ต้องมีการกลืนหลายครั้งกว่าอาหารจะหมดจากช่องปาก ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาหารเหลือค้างในปากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคเสี่ยงต่อภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก

“2. ระยะคอหอย การกลืนที่คอหอยจะเกิดช้ากว่าวัยอื่น กล่องเสียงยกตัวขึ้นมารับกับฝาปิดกล่องเสียงช้า ความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยลดลง หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้า ทำให้อาหารอยู่ในระยะคอหอยนาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจได้จึงเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ และ 3. ระยะหลอดอาหาร ระยะเวลาที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง จึงมีอาหารเหลือค้างที่คอหอยเสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจ แรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะไส้เลื่อนกระบังลมมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นกลไกการกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระยะ และมีส่วนสัมพันธ์กับระบบประสาทสั่งการและการควบคุมการหายใจ” นพ.ณรงค์ กล่าว

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ต้องมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ซึ่งจริงๆ ควรออกกำลังกายตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายที่ดีเมื่อเข้าสูงสูงวัย และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การดูแลสุขภาพช่องปาก ฟัน เพราะเป็นเรื่องของการบดเคี้ยว การรับประทานอาหาร ต้องนิ่มๆ ไม่แข็งมาก ชิ้นไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะการบดเคี้ยวหากไม่ดี นอกจากจะสำลัก เสี่ยงติดคอ ยังส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว สาเหตุของภาวะกลืนลำบากที่พบได้บ่อยของความผิดปกติของช่องปากและคอหอยในวัยสูงอายุคือ โรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อม แต่อาจมีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคพาร์กินสันที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น

“อย่างที่ย้ำเสมอคือ วิธีแก้ปัญหาภาวะกลืนลำบาก ควรปรับอาหารผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ได้แก่ อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีรสจืด โดยรับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง และเลือกใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กลงและหลุมไม่ลึก ทำให้ปริมาณการรับประทานอาหารต่อคำลดลง รวมถึงปริมาณน้ำที่น้อยลงในแต่ละคำจะช่วยลดอาการสำลักได้” นพ.ณรงค์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image