กทม.แจง ‘ทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้า’ ทุกสายก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน

จากกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทบทวนสั่งให้มีการปรับแบบและสั่งรื้อทางขึ้นลงรถไฟฟ้าทุกสายทั้งของรัฐและเอกชนทั้งในปัจจุบันและสายต่าง ๆ ในอนาคต ให้ลดขนาดบันได้ขึ้น-ลงรถไฟฟ้าให้เหลือร้อยละ 50 จากความกว้างของทางเท้า เนื่องจากปัจจุบันรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ใช้ทางเดินเท้าหรือฟุตบาทเป็นบันไดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า รวมทั้งรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่กำลังก่อสร้างยึดพื้นที่ฟุตบาท นำไปทำทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้า ทำให้เหลือพื้นที่ทางเท้าบางจุดไม่ถึง 1-2 ฟุต ในขณะที่บันไดขึ้น-ลงรถไฟฟ้ากลับขยายอย่างกว้างขวางเกินความจำเป็น ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่ใช้ทางเท้าที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของรถไฟฟ้าและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรถไฟฟ้าจนเกินเหตุ มิฉะนั้น สมาคมฯ และชาวบ้านจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อระงับการก่อสร้างและรื้อถอนทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้าต่อไป

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายสมชาย เดชากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า  ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการงานโครงสร้างพื้นฐาน  และกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ในส่วนของการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีนั้น มีการใช้พื้นที่ทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนในการเวนคืนที่ดิน ซึ่งขนาดความกว้างของทางขึ้น-ลงที่ รฟม.ก่อสร้างเป็นไปตามแบบมาตรฐานในการอพยพฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

Advertisement

นายสมชาย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำนักการโยธา กทม. ได้กำหนดเงื่อนไขในการก่อสร้างของ รฟม.บนทางเท้าสาธารณะต้องมีพื้นที่ทางเท้าเหลือกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่หรือบริการสาธารณะอื่นเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2556 ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะตรวจสอบการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีทุกแห่งและจะประสานสอบถามไปยัง รฟม. ว่า การก่อสร้างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image