ชุมชนบ้านปากหมัน ดินแดน คนสร้างป่า

เกือบๆ จะ 5 กิโลเมตร ที่เจ้ากีวีวิ่งตามรถอีแต๊ก ที่เจ้าของคือ ส่วย-พิกุล เมินเมือง มัคคุเทศก์ท้องถิ่น สมาชิกชมรมรถอีแต๊ก ป่าชุมชนบ้านปากหมัน ต.นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย ขับพาพวกเราจากวัดโพนแท่น มุ่งสู่น้ำตกแก่งช้าง ผ่านทั้งเส้นทางถนนในหมู่บ้าน ทางลาดยางที่ตัดระหว่างภูเขา ป่าละเมาะ ป่ายาง ขึ้นเนิน ลงเนิน ก่อนจะเดินขึ้นเขาเล็กๆ ขึ้นไปนั่งชมน้ำตก กินข้าวเหนียวหมูทอดกับน้ำพริกดำ และจิบกาแฟเป็นอาหารมื้อเช้า

เจ้ากีวีหอบแฮ่กๆ ลิ้นห้อย เหมือนจะเหนื่อยมาก เรียกให้ขึ้นมาบนรถมันก็ไม่ยอมขึ้น พิกุลบอกว่ามันวิ่งตามเขาแบบนี้ทุกวัน อาจจะเหนื่อยบ้าง แต่มันชอบ

พอไปถึงจุดหมาย พิกุลแบ่งน้ำ ข้าวเหนียว และหมูทอดที่เตรียมมาให้กีวีกินด้วย มันค่อยๆ กินแบบหมาสุภาพ ก่อนจะนอนเก็บแรงไว้วิ่งขากลับ…

พิกุลเล่าว่า ตัวเองเรียนจบช่างยนต์ระดับ ปวส. เมื่อจบแล้วไปทำงานกรุงเทพฯ ทำอยู่ 14 ปี เก็บเงินได้เล็กน้อย แต่ชีวิตสูญเสียความเป็นตัวเองไปมาก จึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านกับภรรยา ช่วยกันทำไร่ข้าวโพด ทำนา โชคดีมากที่เขาและครอบครัวไม่มีหนี้ จึงใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนอะไรนัก

Advertisement

กระทั่งในพื้นที่มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล โดยมี อ.นรเศรษฐ แสนประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนพระแก้วอาสาวิทยา ได้ริเริ่มตั้งชมรมรถอีแต๊กเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปชมความงามภายในป่าขึ้นมา

”ใครมีรถอีแต๊กก็มาเข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่มีไม่กี่คัน ตอนนี้มีทั้งหมด 27 คัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามคิว สำหรับพานักท่องเที่ยวเข้าป่า อย่างไปดูน้ำตกเราคิดค่าเข้าคันละ 500 บาท รถนั่งได้ 6 คน เรามีบริการ ข้าวเหนียวหมูทอด น้ำพริก น้ำดื่ม และกาแฟบริการด้วย โดยเงิน 500 บาท ที่รับจากนักท่องเที่ยวก็จะหักเข้าชมรม 100 บาท สำหรับการทำงานดูแลพื้นที่ป่าชุมชนที่เราดูแลอยู่” พิกุลเล่า

Advertisement

ป่าชุมชนบ้านปากหมัน ตั้งอยู่ปากแม่น้ำหมัน จรดกับแม่น้ำเหือง บริเวณเส้นกั้นพรมแดนไทย-สปป.ลาว ประชากรดั้งเดิมเป็นชุมชนไทลาวซึ่งอพยพมาจากเมืองกาสี แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ก่อตั้งมาแล้ว 189 ปี อดีตพื้นที่ป่าชุมชนบ้านปากหมันเป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกตัดไม้เพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรประกอบกับเมื่ออดีตเคยเป็นเส้นทางของคอมมิวนิสต์ส่งผลให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ซึ่งภายหลังสถานการณ์สงบลงชาวชุมชนบ้านปากหมันมีการประชุมจากการเห็นสภาพป่าที่มีความเสื่อมโทรม โดยที่ประชุมมีมติให้ปิดป่าเพื่อการอนุรักษ์ ด้วยวิธีการ

“เปิดป่า” เพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติเป็นเวลา 50 ปี ก่อนชุมชนจะขอยื่นจัดตั้งป่าชุมชนเนื้อที่ 1,997 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 พร้อมออกระเบียบและบทลงโทษการเข้าใช้พื้นที่ป่าร่วมกัน

นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ 104,000 บาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามโครงการป่าชุมชนและเขตพื้นที่ตามแนวป่า ในขณะเดียวกันยังร่วมสนับสนุนชุดปฏิบัติการในการช่วยกันตรวจตราร่วมกับชาวบ้าน รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกให้คำแนะนำต่อชุมชนเกี่ยวกับการรักษาป่าอย่างถูกวิธีและส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าเรื่อยมา จนปัจจุบันต้นไม้ภายในป่าชุมชนปากหมันเจริญเติบโตกลายเป็นป่าทึบมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยไม้ใหญ่และแหล่งอาหารชุมชนทั้งเห็ด หน่อไม้ สมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งชุมชนได้ออกข้อตกลงร่วมกันดูแลป่า โดยการปิดพื้นที่ป่า 3 ส่วน ประมาณ 1,500 ไร่ ห้ามคนในชุมชนเข้าพื้นที่เด็ดขาด และแบ่งอีก 1 ส่วน ประมาณ 500 ไร่ เป็นพื้นที่ให้

ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ได้และพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน พร้อมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด ภายใต้ข้อตกลงเดียวกันคือ “การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว ต้องไม่ทำลายธรรมชาติและป่าไม้”

“ชาวบ้าน ไม่เฉพาะผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ช่วยกันทำงาน บำรุงดูแลป่าของพวกเรา เรายังจะถ่ายทอดความรักนี้ไปยังลูกหลานที่จะเป็นอนาคตของบ้านเราด้วย เคยมีคนบอกผมว่า ป่าไม่ดี คนดี ไม่กี่ปีป่าก็เขียว แต่ถ้า ป่าดี คนไม่ดี ไม่กี่ปีป่าก็หมด ซึ่งพวกเราจะไม่มีวันให้ป่าบ้านเราหมดแน่นอนครับ”  พิกุล มัคคุเทศก์หนุ่มบอก เหมือนเป็นคำสัญญา..

นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า จากความสำเร็จข้างต้นชุมชนมีการต่อยอดความสำเร็จร่วมกันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติสองแผ่นดิน ภูอีเลิศ-น้ำตกแก่งช้าง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถสปอร์ตเปิดประทุนชาวบ้าน หรือ “รถอีแต๊ก”  บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ลัดเลาะเข้าไปสู่ป่าชุมชนที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพ โดยมีไฮไลต์เป็นแกรนแคนยอนภูอีเลิศ จุดชมวิวที่สามารถเห็นทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งไทยลาว ท่ามกลางทะเลหมอกอันกว้างใหญ่ และยังมีน้ำตกแก่งช้างที่อยู่ห่างกันไม่มากนัก เป็นน้ำตกกั้นมิตรภาพพรมแดนไทย-ลาว จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็ง จะร่วมกันฟื้นฟูธรรมชาติด้วยการปลูกต้นไม้และรักษาสภาพแวดล้อมโดยรอบให้สมบูรณ์ ควบคู่กับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของชุมชนที่สามารถสร้างความยั่งยืนควบคู่กับการดูแลรักษาป่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image