สบส.ยัน ‘รพ.มงกุฎวัฒนะ’ ไม่ปฎิเสธคนไข้ แต่ไร้ศักยภาพต้องส่งต่อ เผยญาติไม่ติดใจ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีญาติหนุ่มถูกไฟไหม้ทั้งตัวร้องขอความเป็นธรรมว่าถูกโรงพยาบาล (รพ.) มงกุฎวัฒนะ ปฏิเสธการรักษาทั้งที่เป็นผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ว่า สบส.ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 มีโรงพยาบาลเกี่ยวข้อง จำนวน 4 แห่ง คือ รพ.เซนต์คาร์ลอส รพ.มงกุฎวัฒนะ รพ.รามาธิบดี และ รพ.กรุงเทพ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้รับอุบัติเหตุจากไฟไหม้ แต่เป็นอุบัติจากแก๊สระเบิดในขณะทำงานในโรงงาน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นการเจ็บป่วยในงาน มีกองทุนเงินทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป็นกองทุนที่รัฐบาลและนายจ้างสมทบเข้ากองทุน ลูกจ้างไม่ต้องสมทบ ซึ่งแตกต่างจากกองทุนประกันสังคม ที่ต้องจ่าย 3 ส่วน และผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายด้วย

“ในกรณีนี้ถือเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนในสัดส่วนที่ว่าไปตามกฎหมาย และส่วนต่างจากวงเงินค่ารักษา นายจ้างจะเป็นผู้ดูแล กรณีนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม เพราะกองทุนประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยทั่วไป นอกเหนือจากการทำงาน” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

นพ.ณัฐวุฒิ แถลงต่อไปว่า สรุปได้ว่าผู้บาดเจ็บรายนี้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาครั้งแรกที่ รพ.เซนต์คาร์ลอส และโรงพยาบาลทำได้ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ศักยภาพไม่เพียงพอ เพราะผิวหนังผู้ป่วยถูกความร้อนระดับรุนแรง หรือระดับ 3 กินพื้นที่มากถึงร้อยละ 98 ของร่างกาย ถือเป็นวิกฤตฉุกเฉินต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และใช้ห้องดูแลเฉพาะ ซึ่ง รพ.เซนต์คาร์ลอสศักยภาพไม่พอ

“เมื่อสอบถามญาติ ญาติบอกว่ามีประกันสังคมที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่มีห้องดูแลเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยรายนี้ และไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงแนะนำให้ส่งตัวไปโรงเรียนแพทย์ คือ รพ.ศิริราช รพ.รามาฯ หรือ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งจากการสอบถามญาติก็ประสงค์จะไปรักษาที่ รพ.กรุงเทพ เมื่อประสานแล้ว รพ.กรุงเทพ ก็พร้อม จึงส่งไป หลังจากนั้น รพ.กรุงเทพ ก็ติดต่อไปที่นายจ้างว่าใครจะเป็นคนรับดูแลค่ารักษาที่นอกเหนือจากวงเงินในกองทุนเงินทดแทน ก็มีการตกลงกันได้ดี นายจ้างส่งคนไปเซ็นต์รับทราบการรับภาระค่ารักษาดังกล่าว ผู้ป่วยรายนี้ก็เป็นตัวอย่างการประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่ดี มากกว่าการตระเวนส่งผู้ป่วย ดังนั้นจากกรณีนี้ ถือว่าไม่มีโรงพยาบาลใดปฏิเสธการรักษา แต่เป็นการประสานส่งต่อผู้ป่วยตามระบบ ตามศักยภาพ มีการวิเคราะห์ผู้ป่วยก่อนส่งต่อว่าจะไปที่โรงพยาบาลไหนดีที่สุดกับผู้ป่วย” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐวุฒิ แถลงว่า กรณีผู้ป่วยที่ถูกไหม้รุนแรงมาก และกินพื้นที่ถึงร้อยละ 98 นั้น จะมีภาวะคือ 1.ขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ 2.โอกาสติดเชื้อสูงมาก 3.กระทบอวัยวะภายในหลายระบบต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ดังนั้น การส่งตัวไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพถือว่าถูกต้อง ขณะนี้ทราบว่าผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดหลายครั้ง เพราะหลังมีการอักเสบรุนแรง เกิดการคั่งของของเสีย ไตทำงานไม่ทัน จำเป็นต้องฟอกเลือด ขณะนี้ญาติผู้ป่วยมีความเข้าใจดีแล้วว่าเป็นหน้าที่ของกองทุนเงินทดแทนไม่ใช่กองทุนประกันสังคม แต่ส่วนถ้ามีประเด็นอื่นเกี่ยวกับมาตรฐาน สบส.ก็ยินดีไปตรวจสอบ แต่เท่าที่ติดตามขณะนี้ถือว่ามีมาตรฐานดี

ด้านนายมนัส โกศล เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดเหตุก่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 จึงยังได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายฉบับเก่า โดยค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจากการทำงาน ไม่เกิน 2 ล้านบาท ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาจนจบกระบวนการรักษาตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ รวมถึงค่าทดแทนการขาดรายได้ต่างๆ ได้เพียงร้อยละ 60 ของค่าจ้างตามกฎหมายเดิมเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image