“บิ๊กอู๋” นำทีมตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นำคณะเดินทางไปประเทศจอร์แดน เพื่อต่อเครื่องไปยังประเทศอิสราเอล โดยการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหา ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบ เตรียมแผนการรองรับคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานไทย รวมทั้งพบปะและตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่โมชาฟ/คิบบุตซ์ ในทางภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศอิสราเอล โดยระหว่างที่แวะต่อเครื่องในประเทศจอร์แดน ได้ไปสำรวจเส้นทางอพยพ ท่าเรือเมือง ไฮฟ่า (Haifa) ซึ่งจะสถานที่รองรับแรงงานไทยตามแผนเผชิญเหตุด้วย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ภัยสงคราม และภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และฝ่ายแรงงานฯ ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล โดยได้จัดทำรายชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ของแรงงานไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว จัดเตรียมยานพาหนะ และงบประมาณสำหรับการอพยพตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ซึ่งแบ่งระดับการดำเนินการออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 สถานการณ์ปกติ ระดับ 2 เริ่มมีสิ่งบอกเหตุที่ไม่ปกติและอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ ระดับ 3 เกิดความไม่สงบ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้พำนัก ระดับ 4 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้พำนัก ระดับ 5 เกิดความไม่สงบและความรุนแรงต่อเนื่องและขยายวงกว้าง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลได้มีนโยบายควบคุมและบริหารจัดการแรงงานต่างชาติอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ พิจารณาจากความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความต้องการตำแหน่งผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนชราหรือคนพิการมากที่สุดมีจำนวนกว่า 50,000 คน รองลงมา ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่ต้องใช้ความรู้และทักษะความชำนาญพิเศษ อาทิ พ่อครัวแม่ครัว ช่างฝีมือ จำนวน 5,400 คน และการใช้ความตกลงทวิภาคีในการนำเข้าแรงงานต่างชาติในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งแรงงานไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และอิสราเอลอนุญาตให้เฉพาะแรงงานจากประเทศไทยสามารถทำงานในภาคเกษตรได้เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน โดยสัญญาจ้างงานอนุญาตวีซ่าครั้งแรก มีระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจะต่ออายุให้ปีต่อปี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 5,300 เชลเกล/เดือน หรือประมาณ 46,900 บาท คิดเป็นรายได้ของแรงงานต่อคนต่อปีประมาณ 562,800 บาท ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ถูกกฎหมาย 23,256 คน ประกอบด้วย แรงงานภาคเกษตรภายใต้โครงการ TIC จำนวน 22,871 คน ช่างเชื่อม/พ่อครัว 300 คน ผู้อนุบาล 45 คน และอื่น ๆ 40 คน มีแรงงานผิดกฎหมาย 1,490 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image